Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 887 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 887 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 887” คืออะไร? 


“มาตรา 887” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 887 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
              บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
              อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 887” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 887 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2565
กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 3.1.7 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุหรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยจะอ้างข้อสัญญาดังกล่าวเพื่อจำกัดความรับผิดของตนเองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นจึงมีได้เพียงสองกรณีคือ (1) ผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือ (2) ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ในอุบัติเหตุนั้น เมื่อพิจารณาคู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหน้า 8 ข้อ 3.3 ใน2) ได้ยกตัวอย่างอธิบายความหมายของข้อความที่ว่า “ไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่นั้น เช่น ถูกรถอื่นชนเป็นเหตุให้ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่รถที่มาชนนั้นหลบหนีไปไม่สามารถติดตามหรือทราบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย” ทำให้เห็นว่าข้อความดังกล่าวมุ่งเฉพาะกรณีไม่ทราบตัวผู้ที่ต้องรับผิด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าท. ผู้ตายและเป็นผู้ประสบภัยซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยมิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และมีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ตายคือ น. ผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย เพียงแต่ น.ถึงแก่ความตายไปก่อนถูกดำเนินคดีอาญา หาใช่เป็นกรณีไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัยดังที่จำเลยอ้างไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะรับผิดเพียงไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.1.7
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 887


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5310/2562
ผู้คัดค้านรับประกันภัยรถยนต์โดยสารประจำทางซึ่งเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน เมื่อ ว. ผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารประจำทางที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านต้องรับผิดฐานละเมิดต่อผู้ร้องทั้งสามเพราะขับรถยนต์โดยสารประจำทางโดยประมาทไปทับ จ. ถึงแก่ความตายตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แม้ในคดีอาญาผู้คัดค้านจะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยจึงไม่ถูกผูกพันในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ซึ่งผู้คัดค้านก็ไม่ได้โต้แย้งว่าผู้เอาประกันภัยไม่ต้องร่วมรับผิดกับ ว. ผู้คัดค้านไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของ ว. ได้ ผู้คัดค้านจึงต้องรับผิดต่อผู้ร้องทั้งสามตามสัญญาประกันภัย ที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลอาญาที่วินิจฉัยว่า ว. กระทำโดยประมาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านเพราะผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดี แล้ววินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า ว. มิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 887 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.อ. ม. 46
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 40 วรรคสาม (2) (ข)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2453/2561
ค. ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีผู้บริโภค เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ทำให้ ค. ได้รับอันตรายสาหัส และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดต่อ ค. โดยจำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ค. ซึ่งค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดต่อ ค. นั้นได้รวมค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ค. และรับช่วงสิทธิของ ค. มาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีนี้แล้ว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมมีผลผูกพัน ค. กับจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์อีกเพราะจะมีผลให้จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซ้ำซ้อน หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้เอาประกันภัยต่อไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 887
ป.วิ.พ. ม. 145 วรรคหนึ่ง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที