Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 883 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 883 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 883” คืออะไร? 


“มาตรา 883” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 883 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้น ย่อมคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไป จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง และจำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้น ย่อมกำหนดตามที่ของซึ่งขนส่งนั้นจะได้มีราคาเมื่อถึงตำบลอันกำหนดให้ส่ง “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 883” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 883 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1091/2555
ป.พ.พ. มาตรา 883 และมาตรา 885 ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้วิธีการเฉพาะการประกันภัยในการรับขนคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจจะเกิดแก่ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไป จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง จึงได้กำหนดความคุ้มครองไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยและบังคับให้ผู้รับประกันภัยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกรณีมีวินาศภัยเกิดขึ้น
เมื่อมีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดวิธีการเฉพาะการประกันภัยในการรับขนให้คุ้มถึงความวินาศภัยซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับขนไปจนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง จึงไม่อาจนำวิธีการประกันภัยซึ่งมีกำหนดเวลาในกรณีทั่วไปมาปรับใช้ เว้นแต่จะได้ระบุไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่น ดังนี้ สัญญาประกันภัยในการรับขนที่มีกำหนดเวลาย่อมคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งตั้งแต่เวลาที่รับของไปในกำหนดเวลาประกันภัย จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง หาได้มีความหมายว่าสัญญาประกันภัยสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนดเวลาประกันภัยทันทีดังเช่นสัญญาประกันวินาศภัยในกรณีทั่วไปที่มิได้มุ่งคุ้มถึงความวินาศภัยซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งจนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง โจทก์รับประกันภัยรถแทรกเตอร์ที่ขนส่งตั้งแต่โกดังของผู้เอาประกันภัยจนถึงโกดังของลูกค้าของผู้เอาประกันภัย ถึงแม้สัญญาประกันภัยพ้นกำหนดระหว่างเดินทางก็คุ้มครองของที่ขนส่งจนถึงปลายทาง ถือว่าการประกันภัยยังไม่สิ้นสุดจนได้ส่งมอบรถแทรกเตอร์นั้นแก่ผู้รับตราส่ง และกำหนดเวลาประกันภัยหาสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 886 (4) ไม่ ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงแต่กำหนดให้ต้องเริ่มทำการขนส่งภายในกำหนดที่ระบุไว้เท่านั้น หาได้มีความหมายว่าการประกันภัยสิ้นสุดเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาขนส่งไม่ เมื่อรถแทรกเตอร์ได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่ง และโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำในการทางที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้
ใบเสนอราคาค่าขนส่งเอกสารหมาย ป.ล. 1 จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาเสนอราคาค่าขนส่งแก่บริษัท ส. โดยระบุเพิ่มเติมว่า ราคาที่เสนอมานี้ไม่รวมค่าความเสียหายและสูญหายในระหว่างการขนส่ง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำประกันภัยการขนส่งไว้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และจำเลยที่ 1 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะมีโอกาสได้รับใช้ท่านเหมือนเช่นเคยนั้น เป็นเพียงข้อเสนอค่าขนส่งที่ไม่รวมค่าเบี้ยประกันภัย ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. แสดงความตกลงเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดโดยชัดแจ้ง ส่วนใบรับรถเอกสารหมาย ป.ล. 2 นั้น มีหลายใบแต่ไม่ปรากฏว่ามีใบรับในการขนส่งรถแทรกเตอร์ไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ลูกค้าของบริษัท ส. ดังนี้ ใบเสนอราคาและใบรับตามเอกสารหมาย ป.ล. 1 และ ป.ล. 2 ดังกล่าว ไม่เป็นข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 1
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 425, ม. 883, ม. 885, ม. 886 (4)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4709/2542
การขนส่งสินค้าระบบ ซีวาย/ซีวาย เป็นการขนส่งที่ผู้ส่งสินค้าต้นทางจะเป็นผู้ไปรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โกดังของผู้ส่งสินค้า แล้วนำตู้สินค้ามามอบให้แก่ผู้ขนส่ง เมื่อขนส่งตู้สินค้าถึงปลายทางแล้วผู้รับตราส่งจะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจนับสินค้าที่โกดังของผู้รับตราส่งเอง เมื่อใบตราส่งที่จำเลยที่ 1ออกระบุไว้ว่าสถานที่รับสินค้า โตเกียวซีวายสถานที่ส่งมอบสินค้ากรุงเทพซีวาย แสดงว่าในการขนส่งสินค้าพิพาทตั้งแต่จำเลยที่ 1 รับตู้สินค้าจากบริษัท ค. ที่ท่าเรือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงท่าเรือกรุงเทพ แล้วบริษัท น. จะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปตรวจนับสินค้าเอง หากสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าอยู่ในสภาพปกติก็ย่อมแสดงว่าสินค้ามิได้สูญหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าก็หาต้องรับผิดในกรณีสินค้าพิพาทในตู้สินค้าสูญหายไปไม่แต่ตามใบตราส่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ส่งได้ความว่า ตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าพิพาทที่โจทก์รับประกันภัยระบุตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ครั้น จำเลยร่วมขนส่งตู้สินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าตู้สินค้ามีตราผนึกประตูตู้สินค้าเป็นหมายเลข เอสพีไอซี 051682 ซึ่งไม่ปรากฏว่าเหตุใดตราผนึกประตูตู้สินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่งจึงเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น การที่จำเลยร่วมออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อรับมอบตู้สินค้า แม้จะได้ระบุหมายเลขตู้สินค้า แต่มิได้ระบุว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าคือหมายเลขใด กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล27209ถูกเปลี่ยนเป็นหมายเลขเอสพีไอซี 051682 ก่อนหรือภายหลังจากที่จำเลยร่วมรับมอบตู้สินค้าจากท่าเรือสิงคโปร์เมื่อประตูตู้สินค้าได้ถูกเปิดออกในระหว่างการขนส่งสินค้าจากท่าเรือโตเกียวช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนที่จะถึงท่าเรือกรุงเทพและสินค้าพิพาทที่โจทก์ได้รับประกันภัยสูญหายไปจึงถือได้ว่าความสูญหายเกิดขึ้นขณะที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1และจำเลยร่วม ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชอบในความสูญหายของสินค้าพิพาทดังกล่าว พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ให้คำนิยาม "ภาชนะขนส่ง" หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และให้คำนิยาม "หน่วยการขนส่ง" หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกอย่างอื่น ดังนั้น คำว่า "ตู้" ที่ยกตัวอย่างในคำนิยามนั้น ย่อมหมายความถึงตู้สำหรับบรรจุสินค้าหรือของอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กต่างจากตู้สินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและสามารถบรรจุภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าขนาดเล็กดังกล่าวได้เป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกในการขนย้าย ดังนั้น ตู้สินค้าซึ่งเรียกกันในวงการว่าตู้คอนเทนเนอร์จึงเป็นภาชนะขนส่ง ส่วนตู้เป็นหน่วยการขนส่งดังมาตรา 3 บัญญัติให้คำนิยามไว้โดยชัดแจ้งแล้ว มิใช่ว่าตู้หรือตู้สินค้ามีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งและภาชนะขนส่ง เมื่อตู้สินค้าไม่ใช่หน่วยการขนส่ง 1 หน่วย จึงไม่อาจที่จะจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่เกิน 10,000 บาทได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 883
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 3, ม. 43, ม. 45


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3343/2541
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 883และตามกรมธรรม์ประกันภัยมุ่งประสงค์จะคุ้มครองวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดขึ้นแก่ของที่ขนส่ง ในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไปจนได้ส่งมอบของนั้นให้แก่ผู้รับตราส่งคือการคุ้มครองบรรดาความเสี่ยงภัยทั้งหลายที่เป็นการสูญหายหรือเสียหายทุกประเภทที่มีต่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้นั่นเองเมื่อปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2ได้ขนส่งไปถึงประเทศอุรุกวัย อันเป็นจุดหมายปลายทางโดยปลอดภัย โดยไม่มีการสูญหายหรือเสียหายและผู้ซื้อก็ได้รับสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว แม้ผู้ขนส่งจะได้จ่ายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อไป โดยผู้ซื้อมิได้ชำระราคาสินค้าแก่ธนาคารผู้รับตราส่งก่อนตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ก็ตามก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่สินค้าที่เอาประกันภัยสูญหายหรือเสียหายตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยอันจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นก็เป็นเพียงนายหน้าชี้ช่องให้โจทก์กับ จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากันเมื่อโจทก์ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัย และโจทก์ยอมชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยที่ 2 แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้บอกชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 848 แล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 848, ม. 883
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที