Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 880 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 880 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 880” คืออะไร? 


“มาตรา 880” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 880 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
              ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 880” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 880 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2564
สำหรับสัญญาประกันภัยฉบับที่ 1 ที่โจทก์ร่วมทำไว้ต่อบริษัท อ. เป็นสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เมื่อบริษัท อ. ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ร่วมไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ดังกล่าว การประกันภัยเฉพาะข้อตกลงคุ้มครองกรณีการรักษาพยาบาลย่อมถือเป็นการประกันความเสียหายเกี่ยวกับการเสี่ยงภัยกรณีบาดเจ็บและค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ การชำระค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง ไม่ใช่การชดใช้จำนวนเงินแน่นอนตามที่ตกลงไว้ในสัญญาสำหรับความเสียหายที่ไม่อาจประเมินเป็นเงินได้ และไม่ได้อาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงิน จึงเป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การประกันชีวิต เมื่อบริษัท อ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้แก่โรงพยาบาลทั้งสามแทนโจทก์ร่วมไปแล้วรวม 100,989 บาท บริษัท อ. ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ร่วมมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 โจทก์ร่วมจึงไม่อาจเรียกเงินค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้จากจำเลยได้อีก จึงต้องนำเงิน 100,989 บาท ไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม ส่วนสัญญาประกันภัยฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 เป็นสัญญาประกันชีวิต ซึ่งมีข้อตกลงเพิ่มเติมผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นการรักษาในโรงพยาบาลและการศัลยกรรมกับสัญญาประกันสุขภาพรวมอยู่ด้วย เมื่อเงินที่บริษัท อ. ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ร่วมเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อตกลงเพิ่มเติมผลประโยชน์อันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับ จึงถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่บริษัท อ. พึงใช้ให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาประกันชีวิตซึ่งอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตมิได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้บริษัท อ. ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ร่วมไปตามกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้งสองฉบับข้างต้นแล้วก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมที่มีต่อจำเลยระงับไปไม่ โจทก์ร่วมยังคงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้อีก ค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ร่วมได้รับมาตามกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงหาได้เป็นจำนวนเงินที่ต้องนำไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องรับผิด คงต้องหักออกเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ร่วมได้รับมาตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 300 (เดิม)
ป.พ.พ. ม. 880, ม. 889
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 43 (4), ม. 157


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2100/2564
อ. ผู้เอาประกันภัยซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อรถยนต์ซึ่งระบุเงื่อนไขการรับประกันในข้อ 5.1 ว่า รถยนต์ดังกล่าวปราศจากความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุและฝีมือแรงงานที่ใช้ประกอบรถยนต์ สำหรับระยะเวลา 24 เดือน นับแต่วันส่งมอบ โดยระบุในข้อ 5.7 ด้วยว่า การรับประกันนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีตามข้อ (ก) การใช้รถอย่างไม่ถูกวิธี ความประมาทเลินเล่อ อุบัติเหตุ หรือนำรถไปใช้ในการแข่งขัน (ข) รถยนต์ดังกล่าวได้รับการซ่อมแซมโดยบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้จำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (ค) การเสื่อมสภาพหรือชำรุดที่เกิดจากการใช้งานตามปกติหรือที่เกิดจากการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสม ความประมาทเลินเล่อ สภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม หรืออุบัติเหตุ แสดงให้เห็นว่า หากเกิดความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุหรือฝีมือแรงงานที่ใช้ประกอบรถยนต์ ภายในเวลา 24 เดือน นับแต่วันส่งมอบ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด หากไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 5.7 ดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่สืบพิสูจน์ให้เห็นว่าได้เกิดความเสียหายชำรุดบกพร่องและไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 5.7 โจทก์ได้นำสืบแล้วว่า มีการใช้รถยนต์ตามปกติ ทั้งนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คสภาพยังศูนย์บริการของจำเลยทั้งสองไม่เกินระยะมาตรฐาน ไม่มีการดัดแปลงสภาพรถยนต์ เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากอุบัติเหตุ เหตุเพลิงไหม้รถยนต์เกิดเมื่อรับมอบรถยนต์มาเพียง 1 ปี 1 เดือน ยังไม่ครบกำหนดตามเงื่อนไขการรับประกัน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตและประกอบรถยนต์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว หาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากปัจจัยภายนอกซึ่งมิได้เป็นความผิดของจำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุและฝีมือแรงงานที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชอบตามเงื่อนไขการรับประกันที่ให้ไว้ เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ซื้อรถแล้ว โจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคแรก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 880 วรรคแรก


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2562
สัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัย มีวัตถุประสงค์จำกัดขอบเขตการสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันในระหว่างผู้เข้าร่วมสัญญา ผู้เอาประกันภัย และบุคคลซึ่งต้องรับผิดต่อเหตุละเมิดเพียงเท่าจำนวนเงินเอาประกันภัยคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยของผู้ร่วมสัญญาฝ่ายที่ต้อง รับผิดเท่านั้น หาใช่สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดไม่ โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดในค่าเสียหายส่วนเกินจากที่สละสิทธิเรียกร้องตามสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 880
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที