Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 875 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 875 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 875” คืออะไร? 


“มาตรา 875” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 875 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย
              ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 875” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 875 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6886/2542
วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษรไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุวันเริ่มต้นแห่งสัญญาหลังวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยเป็นเวลา 9 วันก็เป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกันเพียงเล็กน้อย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 กรณีนี้จึงต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กระทำขึ้น ณ วันแรกที่โจทก์ มี ฐานะเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย ซึ่งการตีความเช่นนี้ยังสอดคล้องกับหลักการตีความสัญญาในกรณีที่มีข้อสงสัย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายที่จะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นด้วยกรณีถือได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยแล้ว สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงผูกพันคู่ความทั้งสองฝ่าย เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัท ย. ผู้ให้เช่าซื้อได้แสดงเจตนาเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว โจทก์ผู้เอาประกันภัยจึงยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจากจำเลยผู้รับประกันภัยเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นตามสัญญา โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น แต่การที่โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้ พ. ภริยาโจทก์ไปเพราะต้องการบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศเท่านั้น แต่หลังจากที่โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยและเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์กับ พ. ภริยาโจทก์มิได้มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าซื้อกันจริง การโอนเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศได้เท่านั้น สัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่ต้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังคงมีฐานะ เป็นผู้เช่าซื้อที่แท้จริงตลอดมาและยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นอยู่เช่นเดิม และแม้หากจะฟังว่าโจทก์ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป แต่การโอนสิทธิการเช่าซื้อก็ไม่ใช่การโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้บุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยนั้นจึงยังไม่สิ้นผลบังคับไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 11, ม. 155, ม. 171, ม. 863, ม. 875


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4133/2542
กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์กับจำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ง. ผู้ให้เช่าซื้อ บริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ การที่จำเลยที่ 1 เพียงโอนสิทธิการเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แก่ ส.กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังคงเป็นของบริษัทง. ผู้ให้เช่าซื้อ กรณีมิใช่เป็นการที่ผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้บุคคลอื่น กรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่สิ้นผลบังคับ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยที่ 3 ส.ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยส. เป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ส. และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์ และ ส. เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของ ส. และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยแต่คำฟ้องมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ ส. ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัย คำฟ้องของโจทก์จึงอ้างเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดด้วยเท่านั้น ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ก็ย่อมไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 867, ม. 875, ม. 887
ป.วิ.พ. ม. 172 วรรคสอง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4086/2541
โจทก์รับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาประกันภัยจาก ว.โดยได้แจ้งให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ และผู้ให้เช่าซื้อได้แจ้งให้จำเลยผู้รับประกันภัยทราบแล้วถือได้ว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบถึงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาประกันภัยแล้ว เมื่อการโอนในกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 875มิได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือและจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านการโอนสิทธิแต่อย่างใดฉะนั้น สิทธิตามสัญญาประกันภัยจึงโอนไปยังโจทก์
ว. เพียงแต่โอนสิทธิการเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่โจทก์เท่านั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของบริษัท ส. ผู้ให้เช่า ซึ่งมิได้เปลี่ยนไปยังโจทก์ จึงมิใช่กรณีผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ให้บุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นผล
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 875
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที