Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 871 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 871 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 871” คืออะไร? 


“มาตรา 871” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 871 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันก็ดี หรือสืบเนื่องเป็นลำดับกันก็ดี ท่านว่าการที่ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งนั้น ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ๆ “

 


2 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 871” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 871 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2559
คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 ที่ผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์โดยสารคันเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องรับประกันภัยค้ำจุนตามกรมธรรม์เดียวกัน เกิดเหตุเฉี่ยวชนกรณีเดียวกัน ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับบาดเจ็บอันเดียวกันกับที่ผู้คัดค้านทั้งสองเสนอข้อพิพาทไว้ตามคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 เฉพาะส่วนที่เรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จึงซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2
บริษัท บ. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์โดยสารไว้กับผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนแรก และบริษัท ส. เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนที่สอง ดังนั้น ผู้ร้องต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสาม เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคหนึ่ง แม้บริษัท ส. จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 28 แต่ก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ส. โดยไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ดี การที่ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 871 เมื่ออนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท แต่ชี้ขาดให้ผู้ร้องเพียงรายเดียวต้องชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวโดยไม่ได้คำนึงว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ส. แล้วจำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนวินาศจริง จึงเป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 870, ม. 871
ม. 173 (1)
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ม. 28
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 40


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1603/2518
อ. เอาประกันภัยอาคารโรงงานซึ่งระหว่างก่อสร้างและวัตถุดิบไว้กับจำเลย โดยยกประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้โจทก์ มีเงื่อนไขตามกรมธรรม์ว่า ถ้าการค้าหรือการอุตสาหกรรมที่ผู้เอาประกันดำเนินอยู่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เพิ่มการเสี่ยงวินาศภัย ผู้เอาประกันต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อนวินาศภัยเกิดขึ้น มิฉะนั้นสัญญาประกันภัยระงับทันที และมีข้อตกลงว่า อัตราดอกเบี้ยประกันจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นเมื่อก่อสร้างโรงงานเสร็จ ดังนี้ การที่จำเลยได้เรียกให้อ. ชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเมื่อก่อสร้างโรงงานเสร็จและเริ่มเดิมเครื่องจักรทำการผลิต เจตนาของจำเลยเป็นเพียงการใช้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น หาเกี่ยวกับปัญหาที่ว่าการเดินเครื่องจักรทำการผลิตเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อวินาศภัยเพิ่มขึ้นโดยละเมิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยไม่
เมื่อจำเลยเรียกให้ อ. ชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้นอ.มีหนังสือตอบจำเลยมีใจความว่าขอส่งคืนกรมธรรม์เนื่องจากอ. ได้เอาประกันภัยวัตถุดิบไว้กับบริษัทอื่นแล้ว อ. ประสงค์จะเอาประกันเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ซึ่งยังมิได้เอาประกันไว้ เงินเอาประกันเครื่องจักรขอให้เป็นไปตามเดิม ดังนี้ เจตนาของ อ. มีความหมายเป็นคำเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เดิม โดยจะเอาประกันภัยเครื่องจักรแทนวัตถุดิบ ซึ่งได้ย้ายไปเอาประกันไว้กับบริษัทอื่น หาเป็นการบอกเลิกสัญญาไม่ และการที่ อ. แสดงเจตนาตามคำเสนอต่อจำเลยซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมตกเป็นอันไร้ผลเมื่อเกิดอุบัติเหตุอัคคีภัยเสียก่อนที่หนังสือ อ. จะไปถึงบริษัทจำเลย กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมจึงยังมีผลผูกพันจำเลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 สันนิษฐานให้เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยถูกวินาศภัยไปทั้งหมด ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะเรียกร้องเอาชดใช้ค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เอาประกัน เว้นแต่ผู้รับประกันภัยพิสูจน์หักล้างได้ว่าความเสียหายของทรัพย์สินต่ำกว่าจำนวนเงินที่เอาประกัน
อ. เอาประกันภัยวัตถุดิบไว้กับจำเลย แล้วนำวัตถุดิบนั้นไปประกันภัยไว้กับบริษัทอื่นอีก แม้เมื่อเกิดความเสียหายจากอัคคีภัยขึ้น อ.ได้ยอมรับค่าเสียหายจากบริษัทรับประกันภัยอื่นนั้นไปบางส่วนแล้วก็ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิหน้าที่ของจำเลย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 871 และจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเมื่อความวินาศภัยก่อน ซึ่งต้องรับผิดมากกว่าผู้รับประกันภัยคนหนึ่ง ตามมาตรา 870 วรรคท้ายจำเลยจึงต้องรับผิดในจำนวนวินาศภัยจริงที่ส่วนที่ยังไม่ได้ใช้
เครื่องปรับอากาศทำความเย็นซึ่งติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านนอกของอาคารที่เอาประกันภัย เป็นเพียงเครื่องอุปกรณ์ หาใช่ส่วนควบของอาคารไม่ เมื่อเกิดอัคคีภัยไหม้อาคารและเครื่องปรับอากาศก็ไป ผู้เอาประกันภัยจะเรียกเอาชดใช้ค่าเสียหายในส่วนเครื่องปรับอากาศไม่ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 107, ม. 110, ม. 130, ม. 132, ม. 870, ม. 871, ม. 877
ป.วิ.พ. ม. 84
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที