“มาตรา 870 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 870” คืออะไร?
“มาตรา 870” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 870 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้
อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน
ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ท่านว่าผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อ ๆ กันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ “
ค้นหาได้ทุกเรื่อง : "บทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมาย" >> คลิก !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 870” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 870 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2559
คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 ที่ผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์โดยสารคันเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องรับประกันภัยค้ำจุนตามกรมธรรม์เดียวกัน เกิดเหตุเฉี่ยวชนกรณีเดียวกัน ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับบาดเจ็บอันเดียวกันกับที่ผู้คัดค้านทั้งสองเสนอข้อพิพาทไว้ตามคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 เฉพาะส่วนที่เรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จึงซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2
บริษัท บ. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์โดยสารไว้กับผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนแรก และบริษัท ส. เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนที่สอง ดังนั้น ผู้ร้องต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสาม เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคหนึ่ง แม้บริษัท ส. จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 28 แต่ก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ส. โดยไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ดี การที่ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 871 เมื่ออนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท แต่ชี้ขาดให้ผู้ร้องเพียงรายเดียวต้องชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวโดยไม่ได้คำนึงว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ส. แล้วจำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนวินาศจริง จึงเป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 870, ม. 871
ม. 173 (1)
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ม. 28
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 40
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10624/2554
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนถัดไปต่อจากผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนแรก เป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเพราะไม่รู้ว่าวินาศภัยอันเดียวกันนี้มีผู้คัดค้านเป็นผู้รับประกันภัยไว้ก่อนตน กรณีจึงเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไป ทั้งๆ ที่ผู้ร้องไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสามบัญญัติไว้ ถือได้ว่าการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องนั้น เป็นการสมประโยชน์ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นตัวการและต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือความประสงค์ตามที่พึงสันนิษฐานได้ กรณีตามคำร้องจึงเข้าเกณฑ์เป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่งซึ่งก่อให้เกิดหนี้ที่ผูกพันผู้คัดค้านให้ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องได้ออกทดรองจัดการงานให้ผู้คัดค้านไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 401
การที่อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไป ยังไม่คุ้มกับจำนวนวินาศภัย ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคนถัดไปไม่รอเพื่อจ่ายในส่วนที่ยังขาดอยู่ถ้าหากมีแต่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งสิ้นไปทีเดียว จึงต้องถือว่าผู้ร้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยไม่มีหน้าที่ เมื่อไม่มีกฎหมายใดบัญญัติถึงกรณีนี้ในอันจะให้ผู้ร้องเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินตามที่ได้จ่ายไปนั้นได้ การที่ผู้ร้องจ่ายไปนั้นจึงตกเป็นพับแก่ผู้ร้อง และมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องมานั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดนั้นเสียได้ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสาม (2)(ข)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 401, ม. 870 วรรคหนึ่ง, ม. 870 วรรคสาม
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 40 วรรคสาม (2)(ข)
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9245/2538
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันรับประกันภัยทรัพย์พิพาทโดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ในวงเงินร้อยละ 60และ 40 ของค่าเสียหายทั้งหมดตามลำดับ เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นตามสัญญาและโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามวินาศภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามส่วนที่รับประกันภัยไว้แล้ว จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองดังนี้ การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกต่างหากจากกัน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิใช่นายจ้างหรือตัวการของคนขับรถบรรทุกผู้ทำละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่มีพยานยืนยันว่าคนขับรถบรรทุกดังกล่าวเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยก็ตาม แต่คำพยานจำเลยก็ไม่มีน้ำหนักรับฟังนั้นเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟัง พยานหลักฐาน ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 870 วรรคแรก, ม. 877, ม. 880 วรรคแรก
ป.วิ.พ. ม. 150, ม. 248 วรรคหนึ่ง