Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 867 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 867 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 867” คืออะไร? 


“มาตรา 867” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 867 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
              ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง
              กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัยและมีรายการ ดังต่อไปนี้
              (๑) วัตถุที่เอาประกันภัย
              (๒) ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง
              (๓) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้
              (๔) จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย
              (๕) จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย

 


              (๖) ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย
              (๗) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย
              (๘) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย
              (๙) ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี
              (๑๐) วันทำสัญญาประกันภัย
              (๑๑) สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 867” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 867 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2565
จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปทำสัญญาจะซื้อจะขายและส่งมอบรถยนต์ให้บุคคลภายนอกโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ทราบ โดยบุคคลภายนอกหลอกลวงจำเลยที่ 1 ว่า ต้องการซื้อรถยนต์พิพาทของโจทก์และจะดำเนินการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์อันเป็นความเท็จ ต่อมาศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาลงโทษบุคคลภายนอกในข้อหาฉ้อโกง จำเลยร่วมในฐานะบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์พิพาทไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะรถยนต์สูญหายตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะข้อตกลงคุ้มครองข้อ 1 ระบุว่า จำเลยร่วมจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหายไปอันเกิดจากการกระทำความผิดเฉพาะฐานลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอก เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่าบุคคลภายนอกหลอกลวงจำเลยที่ 1 อันเป็นความเท็จจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 861, ม. 867


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12377/2558
สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน ตามคำขอเอาประกันภัยรถยนต์ ระบุว่า อ. ขอเอาประกันภัยรถยนต์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 โดยมีความประสงค์ให้กรมธรรม์มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 แม้ตามกรมธรรม์จะระบุวันทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 แต่การที่โจทก์ยินยอมระบุให้ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ตามคำขอเอาประกันภัยของ อ. ถือได้ว่าเป็นคำสนองตอบรับคำเสนอตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สัญญาหาได้เกิดขึ้น ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ไม่ เมื่อเหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 จึงเกิดขึ้นในระยะเวลาประกันภัย ส่วนการออกกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 เป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อการฟ้องร้องบังคับคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเวลาภายหลังจากที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายในระยะเวลาที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับและโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อรถยนต์แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 867


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2558
การฟ้องบังคับคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วรรคหนึ่ง หมายถึงกรณีผู้เอาประกันภัยฟ้องบังคับผู้รับประกันภัยให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา หรือกรณีที่ผู้รับประกันภัยฟ้องบังคับเอาเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยทั้งสามผู้ขนส่งให้ร่วมกันรับผิดเนื่องจากสินค้าของผู้เอาประกันภัยเสียหายระหว่างการขนส่งของจำเลยและโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วเข้ารับช่วงสิทธิฟ้องร้องจำเลยทั้งสามโดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ได้ กรณีมิใช่เป็นการฟ้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวอันจะตกอยู่ภายใต้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ชนะการประมูลในการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อสินค้าหนัก 528.40 กิโลกรัม จำเลยที่ 1 จึงจำกัดความรับผิดไว้เพียงจำนวน 528.40 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อปรากฏว่าใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจำกัดจำนวนความรับผิดไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องจำกัดความผิดไว้ตามที่ระบุไว้รวมเป็นเงิน 10,568 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดจากการขนส่งดังกล่าว จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 800, ม. 867
ป.วิ.พ. ม. 245 (1)
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 45
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที