Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 866 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 866 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 866” คืออะไร? 


“มาตรา 866” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 866 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “  ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา ๘๖๕ นั้นก็ดี หรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์“

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 866” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 866 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9135/2554
โจทก์เป็นเจ้าของเรือชื่อเบญจมาศ ขอทำประกันภัยไว้กับจำเลยโดยรับรองว่าเรืออยู่ในสภาพดีพร้อมที่จะเดินทาง จำเลยตกลงรับประกันภัยโดยระบุในกรมธรรม์ประกันภัยโดยระบุเงื่อนไขและข้อยกเว้นความรับผิดที่สำคัญไว้หลายประการ คือ การประกันภัยให้บังคับตามกฎหมายและประเพณีปฏิบัติของประเทศอังกฤษ ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งปวงให้ผู้รับประกันภัยทราบ ผู้เอาประกันภัยให้คำรับรองว่าเรือต้องมีใบอนุญาตพร้อมและได้รับการจดทะเบียนจากกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีตลอดอายุกรมธรรม์ประกันภัย (WARRENTED THE VESSEL IS LICENSED AND REGISTERRED BY HARBOUR DEPARTMENT THROUGHOUT THE CURRENCY OF THE POLICY) และผู้เอาประกันภัยให้คำรับรองว่าเรือจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ให้เหมาะสมตามข้อบังคับของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (WARRENTED VESSEL BE PROPERLY EQUIPPED IN ACCORDANCE WITH THE REQUIREMENT OF THE HARBOUR DEPARTMENT) แต่ปรากฏจากผลการสำรวจความเสียหายของบริษัทผู้สำรวจภัยรายงานว่าเหตุที่เรือจม เกิดจากสาเหตุที่ตัวเรือและเครื่องจักรมีอายุใช้งานมานาน และไม่ได้รับการซ่อมแซมดูแลอย่างเพียงพอ ซึ่งในทางประกันภัยถือว่าไม่มีความเหมาะสมในการเดินทะเล และไม่ปรากฏพยานหลักฐานแสดงว่าเรือชนวัตถุใต้น้ำหรือเผชิญสภาวะอากาศเลวร้าย ทั้งจากการตรวจสอบหลักฐานทะเบียนทางเรือแล้ว ไม่ปรากฏว่าเรือได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการเพราะเอกสารตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับใบอนุญาตให้ใช้เรือชั่วคราวนั้น มิใช่เอกสารที่ออกโดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ถือว่าเป็นกรณีที่ไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อรับรองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์ผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยในข้อคำรับรองว่าเรือต้องได้รับใบอนุญาตและได้รับการจดทะเบียนจากการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และเรือต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะสมตามเงื่อนไขของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (Breach of warranty on Seaworthiness of ship) อันเป็นผลให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นจากการรับผิดในทันที ฉะนั้น ขณะเกิดเหตุกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่ให้ความคุ้มครอง ไม่ว่าภัยที่เกิดแก่เรือจะได้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ จำเลยผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 4, ม. 866, ม. 868
พ.ร.บ.การประกันภัยทางทะเล ค.ศ.1906 ม. 18, ม. 39


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8082/2542
แบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิต ข้อ 17 ถึงข้อ 22 เป็นข้อความที่ถามไว้เป็นข้อย่อยเกี่ยวกับสุขภาพของ ผู้เอาประกันชีวิต เช่น มีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจบ้างหรือไม่ ในระหว่าง 5 ปี ที่ผ่านมาเคยเจ็บป่วย เคยได้รับการผ่าตัด เคยรับการรักษาในสถานพยาบาล ถ้าเคย โปรดแจ้งรายละเอียด แบบฟอร์มที่มีข้อความเช่นนี้ตัวแทนจำเลย ผู้มาติดต่อขอเอาประกันชีวิตไม่จำเป็นต้องสอบถามตามข้อความที่ระบุไว้ แต่เป็นที่เชื่อได้ว่าผู้เอาประกันชีวิตจะต้องอ่านก่อน และปรากฏว่าโจทก์มีอาชีพค้าขายมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการย่อมต้องรอบคอบ เมื่อโจทก์อ่านข้อความเหล่านี้แล้ว แต่กลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อ 23 ซึ่งระบุว่า ถ้าคำตอบในเรื่องสุขภาพเป็นคำตอบรับ เช่น เคยได้รับการผ่าตัด หรือเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล จะต้องอธิบายรายละเอียดไว้ด้วย ข้อความเหล่านี้มีอยู่ก่อนโจทก์ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิต หาใช่ตัวแทนจำเลยกรอกข้อความดังกล่าวภายหลังไม่ เมื่อโจทก์ไม่แจ้ง ก็ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาปกปิดไม่แจ้งความจริงตามหน้าที่ที่ต้องชี้แจงแสดงข้อบกพร่องของผู้เอาประกันชีวิตซึ่งผู้รับประกันภัยอาจบอกปัด ไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้รับประกันภัยทราบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง หน้าที่นี้มีน้ำหนักใน การแสดงความสุจริตมากกว่าหน้าที่ของผู้รับประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 866 ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังใน การรับรู้ข้อความจริง โดยผู้รับประกันภัยพึงใช้ความระมัดระวังอย่างคนธรรมดาเช่นวิญญูชนทั่วไปก็พอแล้ว สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะจำเลยย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 865, ม. 866


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771/2531
ป. ซึ่งรู้ตัวดีว่าตนเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษและเคยเข้ารับการตรวจรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาก่อน ได้ขอเอาประกันชีวิตต่อจำเลย ตัวแทนผู้หาประกันของจำเลยจัดให้แพทย์มาตรวจร่างกายของ ป. เพื่อทำรายงานให้จำเลยประกอบการพิจารณาว่าจะรับประกันชีวิต ป. หรือไม่ เช่นนี้แพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป.ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลย จะถือว่าจำเลยผู้รับประกันภัยทราบว่าป. เคยตรวจและรักษาโรคต่าง ๆ มาก่อนเช่นเดียวกับแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป. ไม่ได้ เมื่อ ป. ปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพสัญญาประกันชีวิตระหว่าง ป. กับจำเลยตกเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 865, ม. 866
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที