Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 865 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 865 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 865” คืออะไร? 


“มาตรา 865” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 865 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
              ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ประกันชีวิต" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 865” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 865 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2565
ในสัญญาประกันชีวิต การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่งเป็นสำคัญ และมาตรา 865 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. บัญญัติว่า "...บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยการทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันชีวิต เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิตซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตน ที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ หาใช่หน้าที่ของจำเลยผู้รับประกันชีวิตที่จะต้องสืบหาประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันชีวิตไม่ การที่ผู้เอาประกันชีวิตระบุในใบคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) ที่ถามชัดเจนว่าระหว่าง 6 เดือนที่ผ่านมาเคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลทำการรักษาตัว ตรวจโลหิต ความดันโลหิตหรือไม่ แต่ผู้เอาประกันชีวิตกลับตอบว่า การตรวจสุขภาพประจำปีผลปกติ ทั้งที่ก่อนที่จะยื่นใบคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) เพิ่งไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการป่วยด้วยโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง บ่งชี้ได้ว่า ผู้เอาประกันชีวิตจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพและอาการเจ็บป่วยดังกล่าวของตนที่เป็นข้อสาระสำคัญซึ่งหากจำเลยทราบก็จะไม่รับทำสัญญาประกันชีวิต การปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นผลให้สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะตามบทกฎหมายข้างต้น เมื่อจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตไปยังโจทก์ทั้งสองผู้รับประโยชน์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง โดยชอบแล้ว สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 865


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5520/2564
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 โมฆียะกรรมในนิติกรรมที่เกิดจากความบกพร่องในความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ การแสดงเจตนาเพราะสำคัญผิดถูกฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ รวมถึงบุคคลวิกลจริต และบัญญัติให้มีสิทธิบอกล้างได้ และตามมาตรา 177 ยังบัญญัติว่าอาจให้สัตยาบันเพื่อให้เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มแรกได้ จึงชี้ชัดว่าโมฆียะกรรมไม่ใช่บทบังคับให้นิติกรรมเสียไปเลยเป็นโมฆะกรรม แต่ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาที่แสดงเจตนาทราบเหตุแห่งโมฆียะกรรมแล้วยังคงประสงค์ที่จะให้นิติกรรมดังกล่าวนั้นมีผลบังคับหรือไม่ บทบัญญัติเกี่ยวกับการบอกล้างโมฆียะกรรมจึงไม่ใช่บทบัญญัติเคร่งครัดและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงสามารถตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมโดยแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง ได้ กรณีที่สมาชิกผู้เอาประกันไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จ บริษัทจะบอกล้างสัญญาภายในหนึ่งปีนับแต่วันทำสัญญา ทั้งตามเอกสารหมาย ล.6 ส่วนที่ 3 ข้อกำหนดทั่วไปข้อที่ 2 ระบุว่าบริษัทจะไม่โต้แย้งหรือคัดค้านความไม่สมบูรณ์ของสัญญาประกันภัยที่มีผลบังคับมาเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ สัญญาจึงมีผลผูกพันผู้ตายกับจำเลย จำเลยไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกล้างเกินกว่าระยะเวลาดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 175, ม. 177, ม. 865 วรรคสอง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2564
การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยผู้รับประกันภัยให้การต่อสู้ว่า สัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นโมฆียะ และจำเลยได้บอกล้างแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด และได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้วภายใน 1 เดือน นับแต่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยทราบเหตุอันบอกล้างโดยทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 แต่ตามพยานหลักฐานจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมอบหมายให้บุคดลใดเป็นผู้ตรวจสอบหรือจำเลยทำการตรวจสอบอย่างไร แต่ปรากฏจากสำเนาบัตรตรวจโรคโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ว่า โรงพยาบาลวารินชำราบ ส่งตัว ป. ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เกี่ยวกับโรคติดสุรา โดยระบุที่มุมด้านข้างของเอกสารว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 และมี ว. เจ้าพนักงานเวชสถิติชำนาญงาน เป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้องเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความ ล. ว่าประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนจำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของ ป. ไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในช่วงเวลาดังกล่าวและโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้ออกเอกสารตามสำเนาบัตรตรวจโรคให้แก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 แล้ว กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนในการใช้สิทธิบอกล้างโมฆียกรรม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ที่ตัวแทนของจำเลยได้รับสำเนาประวัติการตรวจรักษาของ ป. ซึ่งเป็นการทราบมูลอันจำเลยจะบอกล้างโมฆียกรรมได้ การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน 2559 บอกล้างสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับไปยังโจทก์ และโจทก์ได้รับหนังสือบอกล้างดังกล่าววันที่ 26 มิถุนายน 2559 จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียกรรมได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 865 วรรคสอง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที