Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 862 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 862 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 862” คืออะไร? 


“มาตรา 862” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 862 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ตามข้อความในลักษณะนี้
              คำว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
              คำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
              คำว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้
              อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 862” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 862 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2563
การดำเนินกิจกรรมของชมรมเอื้ออาทรเกษตรกรอำนาจเจริญ สมาชิกจะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกแก่ชมรมทุกปี เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย ชมรมจะนำเงินค่าสมาชิกหมุนเวียนจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะของสมาชิกนั้น เป็นเหตุในอนาคตที่จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามที่สมาชิกนั้นกำหนดไว้ มิใช่เป็นการจ่ายเพื่อการสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 แต่เป็นการดำเนินกิจการอันมีลักษณะทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 มาตรา 862 และมาตรา 889 ซึ่งมิได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัด จึงไม่อาจที่จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.การประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7จำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินกิจการชมรมในการทำการเป็นผู้รับประกันชีวิตโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบรรดาสมาชิกทั้งหลายด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำชักชวนหาสมาชิก เป็นการร่วมกันทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นความผิดตามมาตรา 91
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 861, ม. 862, ม. 889
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ม. 7, ม. 18, ม. 91


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423 - 6424/2555
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 861, ม. 862, ม. 889
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ม. 18, ม. 91


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549
ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 374, ม. 572, ม. 861, ม. 862
ป.วิ.อ. ม. 225
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที