Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 861 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 861 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 861” คืออะไร? 


“มาตรา 861” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 861 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 861” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 861 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2565
จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปทำสัญญาจะซื้อจะขายและส่งมอบรถยนต์ให้บุคคลภายนอกโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ทราบ โดยบุคคลภายนอกหลอกลวงจำเลยที่ 1 ว่า ต้องการซื้อรถยนต์พิพาทของโจทก์และจะดำเนินการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์อันเป็นความเท็จ ต่อมาศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาลงโทษบุคคลภายนอกในข้อหาฉ้อโกง จำเลยร่วมในฐานะบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์พิพาทไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะรถยนต์สูญหายตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะข้อตกลงคุ้มครองข้อ 1 ระบุว่า จำเลยร่วมจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหายไปอันเกิดจากการกระทำความผิดเฉพาะฐานลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอก เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่าบุคคลภายนอกหลอกลวงจำเลยที่ 1 อันเป็นความเท็จจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 861, ม. 867


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3312/2564
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 สัญญาประกันภัยเป็นนิติกรรมสองฝ่ายที่คู่สัญญามีคำเสนอคำสนองต้องตรงกันที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยด้วย กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของสัญญาไว้ ส่วนตารางกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเพียงหลักฐานการรับประกันที่ผู้รับประกันภัยออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อแสดงว่าตนได้เข้ารับประกันความเสี่ยงภัยนั้นไว้แล้ว หาใช่เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวไม่ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองในนามของโจทก์ตามใบคำขอเอาประกันภัย ซึ่งในข้อ 12 ระบุความคุ้มครองภัยเพิ่มพิเศษรวมถึงลมพายุไว้ด้วย และต่อมาจำเลยที่ 2 ออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ได้ให้คำจำกัดความคำว่า กรมธรรม์ประกันภัย หมายความรวมถึง ใบคำขอเอาประกันด้วย ดังนั้น ใบคำขอเอาประกันภัยจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ยังปรากฏข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยว่าทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 พิจารณารับประกันวินาศภัยในทรัพย์ที่เอาประกันภัยของโจทก์ และถือว่าเป็นวันที่คำเสนอและคำสนองของโจทก์และจำเลยที่ 2 ตรงกันอันเป็นวันที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น และจำเลยที่ 2 ไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณารับประกันภัยของผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ในการสืบพยานต่อศาลชั้นต้นทั้งที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 และไม่ยากแก่การนำสืบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่คุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุ และกรมธรรม์ประกันภัยออกเป็นหลักฐานเมื่อวันหลังจากที่เกิดวินาศภัยในคดีนี้ หากจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะคุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุก็ควรโต้แย้งหรือแจ้งต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์เสียแต่ในโอกาสแรก แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น และต้องถือว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยจากโจทก์โดยรวมถึงภัยอันเกิดจากลมพายุตามที่มีการระบุในใบคำขอเอาประกันภัยตามข้ออ้างของโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 861


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2563
การดำเนินกิจกรรมของชมรมเอื้ออาทรเกษตรกรอำนาจเจริญ สมาชิกจะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกแก่ชมรมทุกปี เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย ชมรมจะนำเงินค่าสมาชิกหมุนเวียนจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะของสมาชิกนั้น เป็นเหตุในอนาคตที่จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามที่สมาชิกนั้นกำหนดไว้ มิใช่เป็นการจ่ายเพื่อการสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 แต่เป็นการดำเนินกิจการอันมีลักษณะทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 มาตรา 862 และมาตรา 889 ซึ่งมิได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัด จึงไม่อาจที่จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.การประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7จำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินกิจการชมรมในการทำการเป็นผู้รับประกันชีวิตโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบรรดาสมาชิกทั้งหลายด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำชักชวนหาสมาชิก เป็นการร่วมกันทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นความผิดตามมาตรา 91
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 861, ม. 862, ม. 889
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ม. 7, ม. 18, ม. 91
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที