Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 859 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 859 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 859” คืออะไร? 


“มาตรา 859” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 859 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด และให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 859” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 859 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2557
จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาอายุความขึ้นแล้ววินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกินห้าปีจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ปัญหานี้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในฎีกาโดยตรง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 จากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีก คงมีแต่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารได้นำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้เท่านั้น โดยมีการหักทอนบัญชีกันตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2536 แสดงให้เห็นเจตนาของธนาคารและจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันโดยปริยายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด แม้สัญญาจะระบุให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยก็หมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้จากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็เป็นการให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนจะปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญานั้นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาอย่างเคร่งครัด เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้สูงสุดในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/33 (1), ม. 224, ม. 859
ป.วิ.พ. ม. 183


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 11, ม. 193/27, ม. 193/30, ม. 745, ม. 856, ม. 859


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2548
ประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ซึ่งใช้บังคับขณะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลย กำหนดให้โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าเบิกเงินเกินวงเงินหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี และเรียกจากลูกค้าทั่วไปกรณีอยู่ภายในวงเงินและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) คืออัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี บวกร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยที่จะเรียกจากจำเลยที่ 1 ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้เรียกเก็บกรณีเบิกเงินเกินวงเงินหรือผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่จะเรียกจากลูกค้าได้นับแต่วันทำสัญญาเช่นนี้ จึงเป็นการกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของโจทก์ ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ และเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงขัดต่อ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น และกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดแล้วไม่โต้แย้งความถูกต้องและดอกเบี้ยที่คิดภายหลังทำสัญญาในบางช่วงเวลารวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ขอมาท้ายฟ้องไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจบังคับได้ตามขอ
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นข้อตกลงของคู่สัญญาที่จะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกัน การชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้คงเหลือ ดังนั้น หากคู่สัญญายังคงให้บัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไป ก็ยังไม่ถือว่ามีการผิดนัดกัน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 856, ม. 859
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ม. 14
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที