Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 858 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 858 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 858” คืออะไร? 


“มาตรา 858” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 858 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าคู่สัญญามิได้กำหนดกันไว้ว่าให้หักทอนบัญชีโดยระยะเวลาอย่างไรไซร้ ท่านให้ถือเอาเป็นกำหนดหกเดือน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 858” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 858 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2546
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโจทก์ย่อมมีอำนาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันจะเป็นผลทำให้ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
ระยะเวลาในการหักทอนบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 858 กับสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เป็นคนละเรื่องกัน สำหรับกรณีแรกไม่ว่าจะกำหนดอายุแห่งสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันไว้หรือไม่ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีกันไว้กฎหมายให้ถือกำหนดหกเดือนเป็นกำหนดหักทอนบัญชี ส่วนในกรณีที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกำหนดเวลาหรืออายุแห่งสัญญานั้นอาจจะมีกำหนดระยะเวลาในการหักทอนบัญชีก็ได้เช่นให้หักทอนกันทุกวันสิ้นเดือน
ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงแต่ว่าคู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2541 และครบกำหนดตามระยะเวลาที่บอกกล่าวในวันที่ 12กรกฎาคม 2541 สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว มิใช่ต้องสิ้นสุดลงภายใน 6 เดือนตามระยะเวลาที่ต้องหักทอนบัญชีตามมาตรา 858
จำนวนวงเงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคนละเรื่องกับโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยหรือไม่ และจะคิดทบต้นอย่างไร เมื่อตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือน และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินดังว่านี้กลายเป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนั้น ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังคงมีอยู่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยและนำมาทบเป็นต้นเงินแม้เมื่อรวมกันแล้วจะเกินวงเงินที่ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ก็ตาม
ชั้นอุทธรณ์โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ 1,500,000 บาทโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำแก้อุทธรณ์และถอนฟ้องจำเลยที่ 2พร้อมทั้งขอรับเอกสารเพื่อไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้ต่อไป จึงมีผลเท่ากับโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแล้ว โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไปและต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยและกรณีเป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้กู้กับจำเลยที่ 2 ผู้จำนองคำพิพากษาจึงต้องมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้จำนองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 858, ม. 859
ป.วิ.พ. ม. 245
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ม. 14


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7040/2542
ตามข้อตกลงในการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่มีข้อความว่าให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเมื่อใด เมื่อปรากฏว่าหลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามหนังสือต่ออายุสัญญาดังกล่าว เจ้าหนี้และบริษัท พ. ยังคงมีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อบริษัท พ. นำเงินเข้าฝากในรูปตั๋วเงินและกู้เงินโดยผ่านบัญชีเงินฝากกระแสรายวันครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2531 หลังจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป คงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเท่านั้น และเจ้าหนี้คิดหักทอนบัญชีกับบริษัท พ. ในวันที่ 31 มกราคม 2533 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2533 ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 และ 859 สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 10 ปี หนี้ดังกล่าวไม่ขาดอายุความ
ลูกหนี้ที่ 4 ร่วมค้ำประกันหนี้ของบริษัท พ. เป็นเงิน 5,000,000 บาท แม้จะยอมตกลงค้ำประกันการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง แต่ก็หาใช่รับผิดชำระหนี้แทนบริษัท พ. โดยไม่จำกัดจำนวนไม่ คงรับผิดชำระหนี้เป็นเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น และการค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ยอดหนี้ของบริษัท พ. อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยการนำเงินเข้าหรือถอนเงินออกจากบัญชี ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการเบิกถอนเงินเต็มวงเงินค้ำประกันเป็นต้นไป แต่ถ้าบริษัท พ. นำเงินมาชำระหนี้หักทอนบัญชีจนเป็นหนี้ต่ำกว่าวงเงินค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่บริษัท พ. ได้ชำระแล้ว คงรับผิดเท่าวงเงินที่เหลือจนกว่าจะได้มีการเบิกถอนจนเต็มวงเงินค้ำประกันใหม่ ผู้ค้ำประกันจึงจะรับผิดเต็มตามวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนั้นอีก ฉะนั้น ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันใด จึงต้องพิจารณาในวันที่ บริษัท พ. เป็นหนี้เจ้าหนี้เต็มวงเงินครั้งสุดท้าย ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เมื่อบริษัท พ. เป็นหนี้เจ้าหนี้เต็มวงเงินครั้งสุดท้ายคือวันที่ 30 ธันวาคม 2526 ลูกหนี้ที่ 4 จึงต้องชำระดอกเบี้ยทบต้นให้แก่เจ้าหนี้นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2526 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2533 อันเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง แต่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นจากลูกหนี้ที่ 4 เกินกว่า 5 ปี เพราะอายุความในการเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างชำระเพียง 5 ปี นับแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้ย้อนหลังไปเท่านั้น แต่จากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างชำระในส่วนนี้เพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/30, ม. 193/33 (1), ม. 858, ม. 859
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 249
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94, ม. 100, ม. 153


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2542
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2524 จำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงิน เกินบัญชีจากบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ ในวงเงิน 1,500,000 บาทมีกำหนดเวลา 12 เดือน นับแต่วันทำสัญญา ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากจำนวนเงินที่เบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีหักทอนบัญชีกับโจทก์เป็นการเดินสะพัดในบัญชีเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม 2526จึงไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไป หลังจากนั้นแม้จำเลยนำเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง แต่ก็เป็นการชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าได้มีการเลิกบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2526อันเป็นวันครบกำหนดการต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ 2 สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นสัญญาที่มีลักษณะพิเศษคือช่วงระยะเวลาที่คู่สัญญายังเดินสะพัดทางบัญชีกันอยู่โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยในอัตราที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแม้จะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 กำหนดไว้ แต่เมื่อมีการเลิกสัญญากันแล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น และมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นได้เท่านั้น เพราะถือเป็นกรณีที่ถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่พึงเรียกเก็บตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยอีกไม่ได้ เว้นโจทก์จะขอให้จำเลย ชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่า
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 7, ม. 224, ม. 856, ม. 858
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที