Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 856 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 856 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 856” คืออะไร? 


“มาตรา 856” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 856 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 856” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 856 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2564
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันและจำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวทวงถามและมีหนังสือบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือหักทอนทางบัญชีกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 30 กันยายน 2554 หลังจากนั้นไม่มีการเบิกถอนเงินอีก แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ ไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันอีก สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโดยปริยาย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นกับจำเลยที่ 1 ได้อีก จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อโจทก์ทวงถาม โดยโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัด หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต่อโจทก์ ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงิน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ครั้งสุดท้ายวันที่ 20 ธันวาคม 2559 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระงวดถัดไป ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 จึงเป็นการบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นความรับผิด สำหรับค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ และโจทก์บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทดรองจ่ายไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 204 วรรคแรก, ม. 686, ม. 856


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4221/2564
การจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 204 หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่ปรากฏว่าได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ตามวันแห่งปฏิทิน แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่การชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือโดยดุลยภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ผลของการเลิกสัญญาจึงก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือหลังจากหักทอนบัญชีกันแล้ว และแม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม มาตรา 203 แต่วันที่เลิกสัญญากันก็ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ที่ได้กำหนดกันไว้ตามวันแห่งปฏิทินอันจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยพลัน กรณีจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดจึงต้องได้ความว่ามีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระเงินคงเหลือ กล่าวคือต้องมีการบอกกล่าวทวงถามแล้วโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 เมื่อครบกำหนด จำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2560 ที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 เพื่อบอกกล่าวการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการบอกกล่าวก่อนจำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่ต่อมาโจทก์มีหนังสือขอให้ชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 4 อีก ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่10 มกราคม 2561 หนังสือขอให้ชำระหนี้มีนัยเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นต่อไปตามอัตราที่ระบุในสัญญาบัญชีเดินสะพัดจนถึงวันผิดนัด แต่ที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์นั้น เห็นว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจและการเงินในแต่ละช่วงเวลา จึงเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสี่รับผิดตามอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกหนี้ผิดนัดที่ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ภายหลังวันฟ้อง แต่ไม่ให้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ปัญหานี้แม้คู่ความจะไม่ได้ฎีกาแต่ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และกรณีเป็นการชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์จะฎีกาเฉพาะในส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 203, ม. 204, ม. 686, ม. 856
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 245 (1), ม. 246, ม. 252


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2564
การที่จะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 204 ซึ่งหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย แต่การชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด กล่าวคือ ให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือโดยดุลยภาค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ผลของการเลิกสัญญาจึงก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือหลังจากหักทอนบัญชีกันแล้ว และแม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 แต่วันที่สัญญาเลิกกัน ก็ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ที่ได้กำหนดไว้ตามวันแห่งปฏิทินอันจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยพลัน กรณีจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดจึงต้องได้ความว่ามีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้คงเหลือ โดยต้องมีการบอกกล่าวทวงถามแล้ว เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดลงวันที่ 10 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 5 กับลงวันที่ 24 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 203, ม. 204, ม. 686, ม. 856
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที