Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 852 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 852 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 852” คืออะไร? 


“มาตรา 852” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 852 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 852” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 852 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2565
ข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์เกินจากส่วนที่จำเลยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งเป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้กล่าวอ้างตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำร้อง และนำสืบไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยแม้เดิมสิทธิตามส่วนในที่ดินพิพาทของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นสิทธิที่ได้มาจากการรับมรดกจากเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยและทายาทอื่นได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาท ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกระงับสิ้นไปและทำให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทอื่นได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ตามส่วนในที่ดินพิพาทที่ได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม เมื่อยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปรากฏชื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในทะเบียนที่ดิน สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคงมีผลผูกพันและบังคับได้ระหว่างคู่กรณีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะบุคคลสิทธิ โดยไม่อาจกล่าวอ้างหรือบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทในส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในขณะที่สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สินนั้น โดยยังคงให้ปรากฏชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จะอ้างบทบัญญัติมาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อันมีผลเป็นการบังคับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 705, ม. 852, ม. 1299, ม. 1722
ป.วิ.พ. ม. 225, ม. 252
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 7


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2565
หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ข้อตกลงในคดีอาญาของศาลจังหวัดนครนายกมีความว่า จำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท ภายในวันที่ 3 มกราคม 2561 หากจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินดังกล่าวแล้วจะถอนฟ้องไม่ติดใจบังคับคดีในคดีนี้ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วในเวลาที่กำหนด เมื่อพิจารณาถึงจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยและคำนึงถึงมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทในการบังคับคดีแพ่งเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยการยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยการปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งกันและกัน ข้อตกลงนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามมาตรา 852 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมตกลงด้วยแต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามผลแห่งคำพิพากษาเป็นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตกลงกับโจทก์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายประสงค์ให้หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ระงับสิ้นไปเพราะหากจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดและได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือแก่โจทก์แล้วย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้อีกตามมาตรา 693 ซึ่งโดยเหตุผลแล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 693, ม. 850, ม. 852


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4612/2560
การชำระหนี้แก่ผู้ครองทรัพย์ในขณะเกิดเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 441 จะถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่ผู้มีอำนาจรับชำระหนี้โดยชอบก็ต่อเมื่อผู้ชำระหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นไม่รู้ว่าผู้ที่รับชำระหนี้นั้นไม่ใช่เจ้าของทรัพย์และความไม่รู้นั้นมิใช่เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน เมื่อฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และ ส. พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยที่ 2 รู้หรือควรรู้ได้แล้วว่า น. ผู้ขับขี่ควบคุมรถของโจทก์อันถือว่าเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์กระบะนั้น ซึ่งแม้จะอ้างว่าไม่รู้ แต่การไม่รู้นั้นก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของคนทั้งสองเอง การชำระหนี้รวมตลอดถึงการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ น. จึงถือว่าเป็นการชำระหนี้หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลที่ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้หรือไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยทั้งกรณีก็ฟังไม่ได้ว่า น. เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ดังนี้ สัญญายอมรับในความประมาทของผู้ขับรถทั้งสองฝ่ายจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะมีผลผูกพันโจทก์ได้
แม้ น. จะขับรถไปถึงทางสี่แยกก่อน แต่ก่อนที่จะขับรถผ่านทางแยกนั้นไปก็ควรจะดูให้เห็นถึงความปลอดภัยก่อน การที่รถยนต์กระบะที่ น. ขับไปถูกรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับชนทางด้านท้ายขณะกำลังจะผ่านสี่แยกไป เหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกชนก็เพราะ น. ได้ขับรถผ่านสี่แยกไปโดยไม่ดูให้เห็นถึงความปลอดภัยอย่างชัดเจนก่อน จึงมีส่วนประมาทด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 441, ม. 438 วรรคหนึ่ง, ม. 852
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที