Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 851 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 851 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 851” คืออะไร? 


“มาตรา 851” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 851 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 851” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 851 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740 - 3751/2561
การที่โจทก์ทั้งสิบสองลงลายมือชื่อในหนังสือการยกเลิกการจ้างซึ่งระบุว่า จำเลยขอยกเลิกสัญญาจ้างและตกลงจ่ายเงินค่าบอกกล่าว 1 งวดการจ้างกับค่าชดเชย และโจทก์บางคนยังได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษกรณีอายุงานครบ 20 ปี ในตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวระบุข้อความว่า โจทก์ทั้งสิบสองขอสละสิทธิเรียกร้องใด ๆ อันอาจมีอีกต่อไปทั้งสิ้น ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสิบสองลงลายมือชื่อสละสิทธิเรียกร้องในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง แต่โจทก์ทั้งสิบสองมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะรับเงินตามสัญญา และสละสิทธิเรียกร้องอื่นใดอันอาจมีต่อไปหรือไม่รับเงินดังกล่าวแล้วไปฟ้องเรียกร้องเงินต่าง ๆ ตามที่โจทก์ทั้งสิบสองมีสิทธิตามกฎหมายในภายหลังได้ เมื่อกฎหมายแรงงานก็ไม่ได้บัญญัติบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ใช่เงินที่นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงที่โจทก์ทั้งสิบสองกับจำเลยทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ทั้งสิบสอง ดังนั้น โจทก์ทั้งสิบสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินโบนัสและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 850, ม. 851


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559
เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ "ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง" ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 850, ม. 851, ม. 852, ม. 1531, ม. 1532 (ก), ม. 1533


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2298/2559
ข้อตกลงตามที่ระบุไว้ในรายงานเจ้าหน้าที่ที่เสนอต่อผู้พิพากษา ปรากฏว่าคู่ความมิได้ลงลายมือชื่อไว้จึงถือไม่ได้ว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดที่โจทก์จะอ้างมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องให้บังคับแก่จำเลยทั้งห้าได้ ส่วนรายงานกระบวนพิจารณา แม้โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และทนายจำเลยทั้งห้าลงลายมือชื่อไว้ แต่ความตกลงยังหาได้ยุติไม่ เพราะยังจะต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินกันอยู่อีก กรณีจึงไม่ใช่เรื่องตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ หรือที่จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จสิ้นไปในทันทีด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน และรายงานเจ้าหน้าที่กับรายงานกระบวนพิจารณาไม่อาจนำมาประกอบกันแล้วถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 850, ม. 851
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที