Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 850 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 850 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 850” คืออะไร? 


“มาตรา 850” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 850 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 850” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 850 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2565
หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ข้อตกลงในคดีอาญาของศาลจังหวัดนครนายกมีความว่า จำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท ภายในวันที่ 3 มกราคม 2561 หากจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินดังกล่าวแล้วจะถอนฟ้องไม่ติดใจบังคับคดีในคดีนี้ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วในเวลาที่กำหนด เมื่อพิจารณาถึงจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยและคำนึงถึงมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทในการบังคับคดีแพ่งเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยการยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยการปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งกันและกัน ข้อตกลงนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามมาตรา 852 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมตกลงด้วยแต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามผลแห่งคำพิพากษาเป็นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตกลงกับโจทก์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายประสงค์ให้หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ระงับสิ้นไปเพราะหากจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดและได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือแก่โจทก์แล้วย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้อีกตามมาตรา 693 ซึ่งโดยเหตุผลแล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 693, ม. 850, ม. 852


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2563
ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นระบุว่า จำเลยและ ส. ตัวแทนบริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาศาล ส. แถลงว่าจำเลยกับญาติผู้ตายทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความค่าเสียหายส่วนแพ่งที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา โดยบริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ห. ภริยาของ ว. ผู้ตาย จำนวน 600,000 บาท และจ่ายให้แก่ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 450,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในส่วนแพ่งว่า ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนนั้น จำเลยและบริษัทผู้รับประกันภัยค้ำจุนร่วมกันชดใช้ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองแล้ว ชั้นสืบพยานในส่วนแพ่งในศาลชั้นต้น จำเลยได้นำบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 มาประกอบการถามค้านผู้ร้องทั้งสอง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกการเจรจาตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 ไว้ในคำให้การส่วนแพ่งแล้ว มิใช่จะให้การเฉพาะค่าสินไหมทดแทนสูงเกินส่วน การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกบันทึกการเจรจาตกลงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้วเมื่อพิจารณาตามบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความว่า จำเลยยอมรับผิดในการทำละเมิดเป็นเหตุให้ อ. ผู้ตายถึงแก่ความตายกับยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท โดยผู้ร้องที่ 2 ระบุว่า ไม่ประสงค์จะฟ้องร้องให้ดำเนินคดีใดและเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ เพิ่มเติมกับจำเลยอีกต่อไป เมื่อบันทึกฉบับนี้มีข้อความว่าผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 450,000 บาท จากตัวแทนของจำเลย ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ อีกด้วย และวรรคสาม ถ้าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุในเอกสารหมาย ล.1 จึงรวมกับค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตลอดจนค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของ อ. ผู้ตายแล้ว เมื่อผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินตามบันทึกการเจรจาและไม่ประสงค์ฟ้องร้องค่าสินไหมทดแทนใด ๆ จากจำเลยอีก ทำให้สิทธิเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ตามลักษณะประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมีผลให้ผู้ร้องที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดจากจำเลยได้อีก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 850


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2563
โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงให้ที่ทับซ้อนส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองเป็นของจำเลย และส่วนที่ระบายด้วยสีชมพูเป็นของโจทก์ตามแผนที่แนบท้ายบันทึก แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยต่างฝ่ายต่างยอมสละที่ดินในส่วนของตนให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจะระงับข้อพิพาทในการที่โฉนดที่ดินออกทับซ้อนกัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 แล้ว ส่วนการรังวัดสอบเขตเป็นเพียงขั้นตอนดำเนินการตามข้อตกลงเพื่อไปสู่การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในภายหลัง ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความยังไม่มีผลสมบูรณ์แต่อย่างใด โจทก์และจำเลยจึงต้องผูกพันกันตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวปัญหาว่าแนวเขตกว้างยาวของที่ดินแต่ละด้านควรมีขนาดเท่าใด เป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงที่อาจรับฟังได้ในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยก็ให้การต่อสู้แต่เพียงว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ไม่ได้ต่อสู้เกี่ยวกับเนื้อความในเอกสารดังกล่าวที่ตกลงให้ที่ทับซ้อนส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองเป็นของจำเลยและส่วนที่ระบายด้วยสีชมพูเป็นของโจทก์ รวมทั้งไม่ได้ให้การแก้ต่างฟ้องโจทก์ที่ขอแบ่งที่ดินของจำเลยเนื้อที่ 2 งาน 70 ตารางวา คดีจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยในข้อนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 850
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง, ม. 252
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที