Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 837 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 837 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 837” คืออะไร? 


“มาตรา 837” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 837 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในการที่ตัวแทนค้าต่างทำการขายหรือซื้อหรือจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย “

 


2 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 837” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 837 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2559
ตามคำฟ้องเป็นการกล่าวอ้างให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วในฐานะที่จำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ส่วนที่โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างบริหารจัดการเรือ อ. จากเจ้าของเรือทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจและจัดชั้นเรือ (Classification) รวมทั้งออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือ อ. นั้น เป็นการบรรยายให้เห็นถึงมูลเหตุและสถานะของจำเลยที่เข้าทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ และเพื่อให้การนำเรือที่จำเลยเป็นผู้บริหารจัดการออกให้บริการในน่านน้ำไทยได้ จำเลยจึงจำเป็นต้องนำเรือดังกล่าวไปตรวจสภาพและขอรับการจัดชั้นเรือพร้อมทั้งขอรับใบรับรองสถานภาพเรือจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความชำนาญและมีหน้าที่โดยตรงซึ่งก็คือโจทก์นั่นเอง หาใช่โจทก์ฟ้องตั้งข้อหาให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนซึ่งเข้าทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ไม่ ส่วนจำเลยให้การเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์แทนเจ้าของเรือซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศมาเลเซียและโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว อันเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น โดยอ้างเหตุว่าจำเลยมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ แต่จำเลยทำสัญญากับโจทก์แทนตัวการซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ตรวจเรือแทนตัวการหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ทำไปแล้วหลังจากจำเลยเลิกสัญญาหรือไม่ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด จึงเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทผิดไปจากข้ออ้างและข้อเถียง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคหนึ่ง
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีความมุ่งหมายเพื่อให้คู่ความแพ้ชนะคดีกันในเนื้อหาแห่งคดีตามกฎหมายสารบัญญัติ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้เพิกถอนการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27 มาตรา 246 และ 142 (5)
จำเลยเป็นผู้รับจ้างบริหารจัดการเรือ อ. (Ship Management Agent) แทนเจ้าของเรือ (Shipowner) โดยจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการบริหารจัดการเรือแก่เจ้าของเรือเพื่อนำออกให้บริการรับขนส่ง และเมื่อเจ้าของเรือประสงค์จะนำเรือออกให้บริการรับขนส่งระหว่างประเทศ จำเลยจึงย่อมต้องทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ หลักเกณฑ์ และระเบียบว่าด้วยการนำเรือออกให้บริการระหว่างประเทศ ซึ่งการสำรวจจัดชั้นเรือเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเรือ เครื่องยนต์ อุปกรณ์ของเรือ และระวางบรรทุกก็เพื่อให้เรือสามารถจดทะเบียนได้ใบอนุญาตใช้เรือและนำเรือออกให้บริการได้ พฤติการณ์และลักษณะการให้บริการของจำเลยแก่เจ้าของเรือในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์นาวีและอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือ อ. แทนเจ้าของเรือรวมทั้งการว่าจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงทำให้การบริการของจำเลยมีลักษณะเป็นตัวแทนค้าต่างตาม ป.พ.พ. มาตรา 833 ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่ว่าเจ้าของเรือซึ่งเป็นตัวการคือใคร โดยทั้งเจ้าของเรือและจำเลยต่างก็มีผลประโยชน์ที่จะได้จากการใช้เรือในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ หากจำเลยบริหารจัดการเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพเจ้าของเรือก็จะได้ผลกำไรจากการดำเนินการนั้น ส่วนจำเลยก็จะได้ผลประโยชน์เป็นบำเหน็จตอบแทนจากเจ้าของเรือ โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องปรับปรุง ซ่อมแซมเรือ อ. จำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือซึ่งได้รับมอบหมายเรือไว้จากเจ้าของเรือย่อมต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาเรือให้อยู่ในสภาพเหมาะสมแก่การใช้งานดังที่ ป.พ.พ. มาตรา 842 บัญญัติไว้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฝากทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามควรแก่เรื่อง จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างจึงย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 657, ม. 659, ม. 824, ม. 833, ม. 837, ม. 842
ป.วิ.พ. ม. 27, ม. 142 (5), ม. 177, ม. 183, ม. 246
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 26, ม. 45


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2558
การเกิดขึ้นและการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นโดยใจสมัครของทั้งสองฝ่าย จากนั้นมีการนำส่งคำเสนอและคำสนองเป็นลายลักษณ์อักษรลงนาม โดยคู่สัญญาหรือตัวแทนปรากฏรายละเอียดของสินค้าที่เจรจาต่อรองกันแล้วว่าจะซื้อขายกัน จำเลยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ติดต่อและประสานงานด้านข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ในการซื้อขายและส่งมอบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง การทำคำเสนอ และการชำระราคา ทั้งชื่อของผู้ซื้อกับตัวแทนผู้ซื้อก็ปรากฏโดยเปิดเผยในเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ลำพังแต่การตรวจสอบสินค้าขั้นสุดท้ายก่อนการส่งมอบแก่ผู้ขนส่งที่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดและเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นตัวแทนค้าต่างที่ทำสัญญาซื้อขายทั้งหกครั้งในนามของตนเองแทน อันอาจจะทำให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ หรือเป็นตัวแทนที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศในอันที่จะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 824, ม. 833, ม. 837
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที