Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 833 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 833 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 833” คืออะไร? 


“มาตรา 833” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 833 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อหรือขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 833” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 833 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2558
การเกิดขึ้นและการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นโดยใจสมัครของทั้งสองฝ่าย จากนั้นมีการนำส่งคำเสนอและคำสนองเป็นลายลักษณ์อักษรลงนาม โดยคู่สัญญาหรือตัวแทนปรากฏรายละเอียดของสินค้าที่เจรจาต่อรองกันแล้วว่าจะซื้อขายกัน จำเลยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ติดต่อและประสานงานด้านข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ในการซื้อขายและส่งมอบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง การทำคำเสนอ และการชำระราคา ทั้งชื่อของผู้ซื้อกับตัวแทนผู้ซื้อก็ปรากฏโดยเปิดเผยในเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ลำพังแต่การตรวจสอบสินค้าขั้นสุดท้ายก่อนการส่งมอบแก่ผู้ขนส่งที่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดและเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นตัวแทนค้าต่างที่ทำสัญญาซื้อขายทั้งหกครั้งในนามของตนเองแทน อันอาจจะทำให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ หรือเป็นตัวแทนที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศในอันที่จะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 824, ม. 833, ม. 837


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2545
จำเลยทั้งสองตั้งให้โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทจำเลยที่ 2 โดยโจทก์เป็นผู้ติดต่อหาลูกค้า เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้า โจทก์จะส่งคำสั่งซื้อของลูกค้ามายังจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็จะแจ้งกลับไปยังโจทก์ว่าจะส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้เมื่อใด โจทก์จึงแจ้งให้ลูกค้าเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระราคาสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองจัดส่งสินค้าแล้วก็จะเรียกเก็บเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ลูกค้าเปิดไว้เห็นได้ว่าลูกค้ามิได้สั่งซื้อและรับสินค้ากับชำระราคาสินค้าแก่โจทก์โดยตรง ราคาสินค้าที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้าก็คือราคาที่จำเลยทั้งสองขายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยทั้งสองจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ร้อยละ 3 ถึง ร้อยละ 7 ของจำนวนสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อ โจทก์มิได้ขายสินค้าของจำเลยที่ 2 ในนามของตนเองจึงไม่ใช่ตัวแทนค้าต่างของจำเลยทั้งสอง แต่การที่จำเลยทั้งสองตั้งให้โจทก์เป็นผู้แทนขายสินค้าในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและฮ่องกงและโจทก์ตกลงทำการดังกล่าว ย่อมเข้าลักษณะของสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นจึงตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน จำเลยทั้งสองในฐานะตัวการย่อมมีสิทธิถอนโจทก์ออกจากการเป็นตัวแทนเสียเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 วรรคแรก ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองแจ้งแก่โจทก์ขอให้เลิกสัญญาโดยไม่ตั้งโจทก์เป็นตัวแทนอีกต่อไปย่อมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและมีผลตามกฎหมายทันที ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาได้ส่วนความเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่โจทก์นั้นโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งไม่อาจถือว่าการที่จำเลยทั้งสองถอนโจทก์ออกจากการเป็นตัวแทนโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการถอนตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 797, ม. 827, ม. 833
ป.วิ.พ. ม. 142, ม. 142 (5), ม. 172 วรรคสอง, ม. 246, ม. 247


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5775/2539
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายสินค้ากับผู้ขายเพื่อนำสินค้ามาวางขายให้ห้างสรรพสินค้าของโจทก์โดยมีข้อตกลงกันว่าในขณะที่มีบุคคลที่สามมาขอซื้อสินค้าให้ถือว่าสินค้านั้นได้มีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายแล้วในทางปฏิบัติโจทก์ยอมให้ผู้ขายส่งสินค้าเข้ามาวางขายในห้างสรรพสินค้าของโจทก์ในสถานที่ที่โจทก์กำหนดโดยโจทก์ยังมิต้องชำระเงินค่าสินค้านั้นแก่ผู้ขายโจทก์จะชำระเงินให้ผู้ขายต่อเมื่อมีลูกค้าได้ตกลงซื้อสินค้านั้นในแต่ละเดือนจึงทำบัญชีสินค้าที่ขายได้ในแต่ละวันกันไว้ราคาที่โจทก์ซื้อและขายให้ลูกค้าก็ต้องเกิดจากการกำหนดร่วมกันระหว่างโจทก์และผู้ขายซึ่งนำสินค้ามาวางขายในห้างสรรพสินค้าของโจทก์แต่ตราบใดที่ยังไม่มีลูกค้าของโจทก์มาขอซื้อผู้ขายก็ยังคงต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายของสินค้านั้นอยู่อีกทั้งเมื่อผู้ขายจะส่งสินค้ามาวางขายผู้ขายยังต้องดำเนินการติดตั้งของใช้ถาวรเฟอร์นิเจอร์และอื่นๆอันเกี่ยวกับการนำสินค้ามาวางขายด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ขายเองโดยความเห็นชอบจากโจทก์ก่อนโจทก์ไม่มีเจตนาอันแท้จริงที่จะซื้อสินค้าจากผู้ขายมาขายเองไม่ว่าโจทก์จะจัดพนักงานขายสินค้านั้นเองหรือต้องให้ผู้ขายส่งพนักงานของผู้ขายมาดำเนินการขายสินค้านั้นด้วยก็เป็นเพียงข้อตกลงที่จะให้มีการขายสินค้านั้นเท่านั้นโจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นโจทก์จึงเป็นผู้รับจัดธุรกิจการขายให้ผู้ขายเข้าอยู่ในประเภทการค้าที่10นายหน้าและตัวแทนตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากร
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 833
ป.รัษฎากร ม. 78, บัญชีประเภทการค้า 10
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที