Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 824 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 824 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 824” คืออะไร? 


“มาตรา 824” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 824 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 824” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 824 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15025/2558
จำเลยได้ร่วมกับบริษัท ว. ตัวการซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการทำสัญญาจ้างกับโจทก์ การที่จำเลยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างดังกล่าวกับนายจ้างผู้เป็นตัวการโดยจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างด้วยตนเองแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการ ก็เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะหลีกเลี่ยงวิธีปฏิบัติตามขั้นตอนของผู้จัดหางานที่จะต้องตรวจสอบและลงนามในสัญญาจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแต่โดยลำพังแม้ชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
จำเลยกำหนดให้โจทก์เดินทางไปเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 20 เมษายน 2551 แต่จำเลยขอเลื่อนกำหนดไปในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ก่อนถึงกำหนดนัดพนักงานของจำเลยสั่งให้โจทก์เตรียมเงิน 15,000 บาท เพื่อเป็นค่าบริการแก่จำเลย โจทก์แจ้งว่าจะจ่ายให้หลังจากไปทำงานและได้รับเงินเดือนแล้ว วันที่ 2 พฤษภาคม 2551 โจทก์ยังไปที่บริษัทจำเลยและตรวจสอบเอกสารการเดินทางและการเข้าเมือง จึงพบว่าเอกสารระบุเพศไม่ตรงกับเพศของโจทก์ โจทก์จึงเดินทางกลับบ้านมิได้เดินทางไปที่สนามบิน เห็นได้ว่าโจทก์ยินยอมเสียค่าบริการให้แก่จำเลยเพียงแต่ขอผัดใช้ให้หลังจากเดินทางไปทำงานกับนายจ้างและได้รับเงินเดือนแล้วเท่านั้น เมื่อถึงวันนัดโจทก์ก็เดินทางไปที่บริษัทจำเลยตามกำหนด แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอาเหตุที่จำเลยเรียกค่าบริการมาเป็นเหตุว่าจำเลยผิดสัญญาเพื่อเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง การที่ระบุเพศผิดพลาดโจทก์ก็หาได้เรียกให้จำเลยจัดการเสียให้ถูกต้องเสียก่อนซึ่งหากจำเลยมิได้ดำเนินการให้ก็จะถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา แต่โจทก์กลับเดินทางกลับบ้าน มิได้ไปที่สนามบิน ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะไม่เดินทางไปเมืองดูไบตามสัญญาจ้างเอง ไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 824


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9629/2558
แม้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ก็ตาม แต่เมื่อใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดของตัวแทนผู้ขนส่งเอาไว้ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ผู้ส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังต่อโจทก์สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้า
แม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้เกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีอันเป็นประเทศที่เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่งตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 31 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง แต่ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องย่อมเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 กำหนดไว้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้นำสืบถึงรายละเอียดในกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 สามารถจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศที่เกิดความเสียหายมาตรา 31 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจจำกัดความรับผิดได้ตามมาตรา 31 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 28 เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้เพียง 666.67 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือ 2 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหาย แล้วแต่จำนวนเงินใดจะมากกว่าไม่
แม้จำเลยที่ 3 จะอุทธรณ์ว่าคดีอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคดีอยู่ภายในบังคับ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองเรือซึ่งต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์สำหรับความเสียหาย และเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องสามารถจำกัดความรับผิดได้โดยรับผิดในความเสียหายไม่เกินจำนวน 212,001.06 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถจำกัดความรับผิดได้ ตาม พ.ร.บ.ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 824
พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ม. 28, ม. 31


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2558
การเกิดขึ้นและการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นโดยใจสมัครของทั้งสองฝ่าย จากนั้นมีการนำส่งคำเสนอและคำสนองเป็นลายลักษณ์อักษรลงนาม โดยคู่สัญญาหรือตัวแทนปรากฏรายละเอียดของสินค้าที่เจรจาต่อรองกันแล้วว่าจะซื้อขายกัน จำเลยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ติดต่อและประสานงานด้านข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ในการซื้อขายและส่งมอบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง การทำคำเสนอ และการชำระราคา ทั้งชื่อของผู้ซื้อกับตัวแทนผู้ซื้อก็ปรากฏโดยเปิดเผยในเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ลำพังแต่การตรวจสอบสินค้าขั้นสุดท้ายก่อนการส่งมอบแก่ผู้ขนส่งที่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดและเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นตัวแทนค้าต่างที่ทำสัญญาซื้อขายทั้งหกครั้งในนามของตนเองแทน อันอาจจะทำให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ หรือเป็นตัวแทนที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศในอันที่จะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 824, ม. 833, ม. 837
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที