Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 821 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 821 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 821” คืออะไร? 


“มาตรา 821” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 821 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 821” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 821 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2565
ธ. เป็นผู้แจ้งการโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าของจำเลยที่ 1 แก่ จ. เพื่อทำการสั่งซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้า แม้ว่าเงินดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่โอนมาจากบัญชีธนาคารของโจทก์ก็ตาม แต่เชื่อว่าโจทก์ต้องรู้เห็นยินยอมให้ ธ. ใช้เงินดังกล่าวเพื่อทำการสั่งซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้าแก่ จ. แทน เพราะถ้าโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมหรือบอกให้ ธ. ทราบว่าโจทก์ได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ในวันใด เป็นจำนวนเท่าไร ไม่น่าเชื่อว่า ธ. จะแจ้งให้ จ. ทราบและออกใบรับเงินได้อย่างถูกต้อง ขณะที่ จ. ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ากับ ธ. นั้นโจทก์รับรู้ด้วย เมื่อสถานะทางบัญชีซื้อขายของ ธ. ขาดทุน และถูกเรียกเก็บเงินประกันเพิ่มเติม และเป็นหนี้บริษัทจำเลยที่ 1 ธ. ได้ขอให้ จ. โทรศัพท์ไปหาโจทก์เพื่อช่วยพูดถึงสาเหตุที่ ธ. ซื้อขายขาดทุนและเป็นหนี้บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งหากเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของ ธ. เองก็ไม่มีความจำเป็นที่ จ. จะต้องโทรศัพท์ไปชี้แจงให้โจทก์ทราบ ดังนั้น การซื้อขายในบัญชีของ ธ. จ. จึงน่าจะทราบดีว่าเป็นการซื้อขายโดยใช้เงินของโจทก์ และ ธ. น่าจะกระทำการแทนโจทก์ เช่นนี้ถือว่า โจทก์ได้เชิดหรือยอมให้ ธ. เชิดตนเองออกเป็นตัวแทนของตนในการใช้เงินจำนวนพิพาทที่โอนเข้าบัญชีลูกค้าของจำเลยที่ 1 ทำการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแทน โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่า ธ. เป็นตัวแทนของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 821


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2563
โจทก์เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการซื้อที่ดินพิพาท โดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินพิพาท และหลังจากซื้อที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทไว้ แสดงให้เห็นว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนอง โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและรับจดทะเบียนจำนอง แสดงว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเอกสารต่าง ๆ ถูกต้อง ทั้งโจทก์ยังเป็นมารดาจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ แม้หนังสือมอบอำนาจจะเป็นเอกสารปลอม แต่การที่โจทก์มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้ และจำเลยที่ 1 ยังมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ไว้ประกอบหนังสือมอบอำนาจ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสที่จะนำโฉนดที่ดินไปทำนิติกรรมใด ๆ นอกเหนือวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้ ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ โจทก์ต้องรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 821, ม. 822


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2563
โจทก์ไม่ได้ตกลงโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยร่วมเนื่องจากจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จะขายจึงมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ย่อมถือว่าเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 จะยกเรื่องตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจขึ้นกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ นอกจากนี้เมื่อการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หาใช่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ไม่การกระทำของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 456, ม. 820, ม. 821, ม. 822
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 252
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที