“มาตรา 816 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 816” คืออะไร?
“มาตรา 816” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 816 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้
ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนต้องรับภาระเป็นหนี้ขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกให้ตัวการชำระหนี้แทนตนก็ได้ หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้
ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น เป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด มิใช่เป็นเพราะความผิดของตนเองไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากตัวการก็ได้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 816” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 816 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2563
โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัท ซ. แทนจำเลยที่ 1 เพื่อที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จะได้เข้าทำสัญญาบริหารงานร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์กับบริษัท ซ. และจำเลยที่ 1 จะได้ทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โจทก์ทั้งสองจึงเป็นตัวแทนในการชำระเงินของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัท ซ. และจำเลยทั้งสองคืนเงินบางส่วนแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมเรียกเงินที่ชำระไปแทนในส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาตัวแทนได้ แม้การเป็นตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 816 วรรคหนึ่ง
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2559
ตามคำให้การและคำร้องที่ขอให้เรียก ย. ม. และบุคคลอื่นเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยอ้างเพียงว่า เพื่อให้จำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของ ย. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง โดยจำเลยไม่ได้แสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยอาจฟ้องหรือถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องได้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน และไม่มีกฎหมายบังคับให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)
ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า หากศาลให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนต่อโจทก์ จำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยและได้รับค่าสินไหมทดแทนจาก ย. และ ม. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 นั้น เห็นว่า มาตราดังกล่าวเป็นเรื่องตัวแทนจัดทำกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตัวแทนและเป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหาย โดยมิใช่ความผิดของตัวแทน ตัวแทนเรียกค่าสินไหมทดแทนจากตัวการได้ แต่ตามคำให้การจำเลยมิได้จัดทำกิจการอันใดแทน ย. ที่จำเลยอ้างว่าเป็นตัวการ จึงเป็นการยกข้อกฎหมายไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคำให้การ แต่ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ข้างต้นเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 816
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 26
ป.วิ.พ. ม. 57 (3)
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18531/2555
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนโจทก์ซื้อที่ดินจากธนาคาร น. โดยได้ออกเงินทดรองชำระราคาที่ดินพิพาทแทนโจทก์ไปและใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะเรียกเอาเงินชดใช้จากโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ค้างชำระค่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของโจทก์ชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตนเพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 819 จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้ชำระค่าที่ดินพิพาทจนครบถ้วน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 816 วรรคหนึ่ง, ม. 819