“มาตรา 805 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 805” คืออะไร?
“มาตรา 805” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 805 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการจะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 805” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 805 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2538
โจทก์ ลงลายมือชื่อใน หนังสือมอบอำนาจโดยยังไม่กรอกข้อความจำเลยที่1นำหนังสือมอบอำนาจนั้นไปกรอกข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่1เป็นผู้มีอำนาจยื่นคำขอจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ให้แก่จำเลยที่1โดยโจทก์ไม่รู้เห็นด้วยนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นจากการทุจริตจึงตกเป็น โมฆะ ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ฉะนั้นการที่จำเลยที่2รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่1จึงไม่เกิดผลให้จำเลยที่2มีสิทธิตามนิติกรรมจำนองโจทก์จึงมีสิทธิขอให้ เพิกถอนนิติกรรม จำนองระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่2ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 149, ม. 702, ม. 805, ม. 1336
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2526
แม้ตัวแทนของจำเลยจะได้ทำสัญญาขายไม้ให้แก่โจทก์แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตัวแทนของจำเลยได้ทำสัญญาดังกล่าวในนามของจำเลยกับตัวแทนของจำเลยเองโดยอาศัยโจทก์เป็นเครื่องมือ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยซึ่งเป็นตัวการ สัญญานั้นย่อมไม่ผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 805
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 805
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2516
โจทก์เป็นข้าราชการครูและเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลย ได้ยื่นคำขอกู้เงินจำเลย 6,500 บาท โดยมอบอำนาจให้ ว. ศึกษาธิการอำเภอซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยเป็นผู้รับเงินแทน ในหนังสือมอบอำนาจนั้นระบุไว้ด้วยว่าเมื่อโจทก์ได้รับเงินกู้จากผู้รับมอบอำนาจ โจทก์จะลงลายมือชื่อในหนังสือกู้และให้ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันตามแบบของสหกรณ์ให้เสร็จไปจำเลยยอมให้กู้เพียง 6,300 บาท น้อยกว่าที่โจทก์เสนอ และได้มอบเงินให้ ว.รับไปโดย ว. ทำคำรับรองให้ไว้ต่อจำเลยว่าจะนำเงินรายนี้ไปจ่ายให้ผู้กู้ และเมื่อจ่ายเงิน จะได้จัดให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในหนังสือกู้และหนังสือค้ำประกันต่อหน้า ว. ซึ่งจะได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ด้วย แล้วจะได้จัดส่งหนังสือกู้และค้ำประกันต่อจำเลยโดยเร็วที่สุด ว. จึงมีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยอยู่ด้วย เมื่อ ว.ยังไม่ได้มอบเงินให้โจทก์ จะถือว่าจำเลยได้ส่งมอบเงินที่ยืมให้โจทก์แล้วยังไม่ได้ ทั้งตามหนังสือมอบอำนาจและคำรับรองของ ว. ก็มีข้อความแสดงอยู่ว่า การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา366 วรรคท้าย ให้นับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือ การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยจึงยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2516)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 75, ม. 366, ม. 653, ม. 797, ม. 805