Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 800 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 800 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 800” คืออะไร? 


“มาตรา 800” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 800 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 800” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 800 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2564
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ซื้อขายสินค้า จำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจระบุ ป. เป็นผู้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้น ป. กับโจทก์ร่วมกันแถลงว่าคดีมีแนวทางที่จะตกลงกันได้ประสงค์จะทำยอม ขอเลื่อนไปทำยอมในนัดหน้า ต่อมาจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจระบุให้ ป. เป็นผู้มีอำนาจในการไกล่เกลี่ย เลื่อนนัด จัดการทุกอย่างจนเสร็จสิ้นกระบวนการศาล นั้น ป. จึงอยู่ในฐานะตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจเฉพาะการ มีหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในสิ่งที่จำเป็นแทนจำเลยภายในขอบอำนาจที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับข้างต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 800 เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าให้ ป. มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งข้อความที่ระบุว่าให้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้นก็ไม่อาจตีความว่ารวมถึงให้มีอำนาจในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยได้ ฉะนั้นการที่ ป. แถลงต่อศาลว่าประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จึงเป็นกรณีตัวแทนกระทำนอกเหนือขอบอำนาจ ย่อมไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 800, ม. 823


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2558
การฟ้องบังคับคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วรรคหนึ่ง หมายถึงกรณีผู้เอาประกันภัยฟ้องบังคับผู้รับประกันภัยให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา หรือกรณีที่ผู้รับประกันภัยฟ้องบังคับเอาเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยทั้งสามผู้ขนส่งให้ร่วมกันรับผิดเนื่องจากสินค้าของผู้เอาประกันภัยเสียหายระหว่างการขนส่งของจำเลยและโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วเข้ารับช่วงสิทธิฟ้องร้องจำเลยทั้งสามโดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ได้ กรณีมิใช่เป็นการฟ้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวอันจะตกอยู่ภายใต้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ชนะการประมูลในการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อสินค้าหนัก 528.40 กิโลกรัม จำเลยที่ 1 จึงจำกัดความรับผิดไว้เพียงจำนวน 528.40 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อปรากฏว่าใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจำกัดจำนวนความรับผิดไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องจำกัดความผิดไว้ตามที่ระบุไว้รวมเป็นเงิน 10,568 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดจากการขนส่งดังกล่าว จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 800, ม. 867
ป.วิ.พ. ม. 245 (1)
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 45


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105 - 2106/2552
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจ ระบุให้ พ. มีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์รวมทั้งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มอบอำนาจช่วงได้ด้วย โดยแยกรายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อๆ ไว้ ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคสอง (5) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไว้แจ้งชัดแล้ว ทั้งเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ มิใช่เป็นการมอบอำนาจเฉพาะการตามมาตรา 800 ที่จะต้องระบุชื่อผู้ซึ่งจะต้องถูกฟ้องคดีตามที่มอบอำนาจไว้ นอกจากนี้การมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อจำกัดแจ้งชัดจากโจทก์ผู้มอบอำนาจเอง ก็ย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ด้วย ดังนั้น พ. ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะที่ยื่นฟ้อง จึงมีอำนาจมอบอำนาจช่วงตามหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ ม. ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 800, ม. 801
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที