“มาตรา 77 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 77” คืออะไร?
“มาตรา 77” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 77 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคล หรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 77” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 77 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2554
ขณะที่กรรมการบริษัทจำเลยทำบันทึกจ่ายค่าตอบแทนการทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์นั้น โจทก์สมัครใจทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนแล้ว โดยมิได้เรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว และเหตุที่ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เห็นได้ว่าทำขึ้นจากการขอร้องของฝ่ายโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำการใดเพื่อเป็นการตอบแทน มีแต่จะขอปลดเปลื้องภาระที่ตนทำขึ้นเท่านั้น มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือโจทก์ให้มีรายได้ดังที่นาย ส. กรรมการจำเลยเบิกความ บันทึกการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำเพื่อกิจการค้าของบริษัท เป็นการกระทำนอกขอบ วัตถุประสงค์ของจำเลย และในเรื่องการชำระเงินนี้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่านาย ส. เป็นผู้จ่ายเงินตามบันทึกข้อตกลงเอง ซึ่งเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยเช่นกัน ไม่อาจถือว่าจำเลยให้สัตยาบัน บันทึกการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 77, ม. 823
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2550
การที่ น. ขับรถยนต์จากกรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดชัยนาทตามคำสั่งของ พ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท พ. และเป็นนายจ้างของ น. เพื่อพา พ. ไปเจรจาเพื่อชดใช้ความเสียหายกรณีที่ พ. เคยขับรถยนต์ชนกับรถยนต์ของบุคคลอื่นในระหว่างการทำตามหน้าที่ของผู้แทนบริษัท พ. เป็นการไปเพื่อตกลงชดใช้ค่าเสียหายประนีประนอมยอมความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 สำหรับการทำละเมิดของ พ. ที่บริษัท พ. อาจต้องรับผิดในความเสียหายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 77, 425, 427 การไปเจรจาเพื่อชดใช้ความเสียหายของ พ. เป็นการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พ. ดังนั้น แม้ น. จะไม่ได้ป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างแต่ก็ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง แต่ในระหว่างการเดินทางก่อนการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง น. และ พ. ถึงแก่ความตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุการถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงไม่ได้เกิดในระหว่างการเจรจาหรือสืบเนื่องมาจากการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ทั้งไม่ใช่เหตุที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้จากการเดินทาง จึงมิใช่ผลโดยตรงจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง การที่ น. และ พ. ถึงแก่ความตายจึงถือไม่ได้ว่าเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พ. ซึ่งเป็นนายจ้าง น. จึงไม่ได้ประสบอันตรายตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 77, ม. 425, ม. 427, ม. 850, ม. 852
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 5
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2548
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดที่มีโทษถึงขั้นไล่ออก เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างและรับโจทก์กลับเข้าทำงาน มิฉะนั้นให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นสิทธิในทางแพ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้อาศัยมูลความผิดทางอาญา แม้จำเลยทั้งสองจะให้การว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ เพราะโจทก์กระทำความผิดอาญาโดยทำร้ายร่างกาย พ. และถูกศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาลงโทษไปแล้ว ก็ไม่ทำให้คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวจะนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางให้โจทก์นำสืบถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่โจทก์ทำร้าย พ. และนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้จงใจทำผิดข้อบังคับและไม่เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด
แม้จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) แต่จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 77, ม. 820
ป.วิ.อ. ม. 46
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ม. 6 (2)