Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 764 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 764 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 764” คืออะไร? 


“มาตรา 764” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 764 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกล่าวนั้น
              ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด
              อนึ่ง ผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 764” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 764 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3481/2559
ที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากโจทก์โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายบริษัท ท. โดยที่โจทก์มิได้มีสิทธิอื่นใดเหนือหลักประกันอันเป็นเครื่องจักร เนื่องจากการจำนำระงับไปแล้ว เพราะทรัพย์จำนำตกอยู่ในครอบครองของผู้รักษาทรัพย์จำนำซึ่งเป็นผู้แทนผู้จำนำ สาระที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ให้การเกี่ยวกับเหตุผลของการจำนำที่ระงับไปแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ ฉะนั้น ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายล้วนเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก และข้อที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสามารถนำสืบพยานหลักฐานได้ตามประเด็นข้อพิพาท เช่นนี้ การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองย่อมไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด
ตามสัญญาจำนำเครื่องจักรและสัญญารักษาทรัพย์ ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพนำเครื่องจักรมาจำนำไว้แก่โจทก์โดยตกลงให้ ศ. ซึ่งเป็นพนักงานของลูกหนี้เป็นผู้เก็บรักษาเครื่องจักรที่จำนำไว้ที่โรงงานของลูกหนี้ โดย ศ. จะได้รับค่าตอบแทนการรักษาทรัพย์จำนำเพียงเดือนละ 100 บาท และยังมีข้อตกลงว่า ตลอดเวลาที่ทรัพย์จำนำอยู่ในความครอบครองของผู้รักษาทรัพย์จำนำ แม้ผู้จำนำจะได้ใช้สอยทรัพย์สินที่จำนำ ก็ไม่ถือว่าทรัพย์สินที่จำนำกลับคืนสู่ความครอบครองของผู้จำนำ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแม้จะไม่ให้ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนสู่การครอบครองของผู้จำนำก็ตาม แต่เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย เพราะเจตนาอันแท้จริงของสัญญาจำนำดังกล่าวประสงค์ให้ลูกหนี้ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินที่จำนำ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนำเครื่องจักรยอมให้ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่จำนำย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินที่จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 769 (2) สิทธิจำนำของโจทก์จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจบังคับจำนำตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 764 ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 764, ม. 769
ป.วิ.พ. ม. 180


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7004/2558
หนี้ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 และฉบับลงวันที่ 5 เมษายน 2549 และหนี้ค่าประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนองซึ่งบริษัท ค. เป็นผู้กู้และผู้จำนอง ส่วนลูกหนี้ที่ 2 เป็นเพียงผู้จำนำใบหุ้นเลขที่ 58 - 59 ทะเบียนผู้ถือหุ้นเลขที่ 2850001 ถึง 2950000 จำนวน 100,000 หุ้น เพื่อประกันหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าหนี้เท่านั้น มิใช่ลูกหนี้ชั้นต้นที่เมื่อบังคับจำนำได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระแล้วยังจะต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 767 วรรคสอง อีกทั้งตามข้อตกลงในสัญญาจำนำ ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับบริษัทดังกล่าว หรือหากบังคับจำนำแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ลูกหนี้ที่ 2 ยินยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดแก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด ลูกหนี้ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์จำนำที่เป็นหลักประกันและเจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขที่ว่า เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) ได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าววรรคท้าย
แม้เจ้าหนี้จะเป็นเจ้าหนี้มีประกันผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ที่ 2 ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 ก็ตาม แต่เจ้าหนี้ชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) แล้วไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้เนื่องจากลูกหนี้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์จำนำที่เป็นหลักประกัน ขณะเดียวกันเจ้าหนี้จะกลับไปขอใช้สิทธิให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกไม่ได้ ประกอบกับเมื่อบริษัท ค. ลูกหนี้ชั้นต้นและลูกหนี้ที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ชอบที่จะบังคับจำนำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้เองอยู่แล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 764 เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันและขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนำได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 764, ม. 767 วรรคสอง
ม. 95, ม. 96 (3)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2552
ป.พ.พ. มาตรา 764 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะนำเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด แต่ปรากฎข้อเท็จจริงทางนำสืบของโจทก์ว่าการขายทอดตลาดครั้งที่สองไม่ได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์ทั้งที่ครั้งแรกได้มีการประกาศทางหนังสือพิมพ์ และผู้ทำการขายทอดตลาดก็เป็นพนักงานของโจทก์ โจทก์เป็นผู้เสนอซื้อเพียงรายเดียวในราคาหุ้นละ 100 บาท เท่ากับราคาที่ระบุไว้ในใบหุ้นเท่านั้น พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์แสดงให้เห็นว่า การขายทอดตลาดไม่ได้เป็นไปโดยเปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไปและไม่ได้ขายในราคาที่พอสมควร การบังคับจำนำของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและย่อมทำให้ยอดหนี้ที่โจทก์คำนวณมาในฟ้องไม่ถูกต้อง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์และหนี้ยังไม่ระงับ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญา ก็สมควรที่จะให้มีการคิดคำนวณใหม่โดยพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิพากษาได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 764 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 18
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที