Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-29

มาตรา 76 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 76 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 76” คืออะไร? 


“มาตรา 76” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 76 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าการกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น แต่ไม่สูญเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อความเสียหาย
              ถ้าความเสียหายแก่บุคคลอื่นเกิดจากการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล บรรดาบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งที่ได้เห็นชอบให้กระทำการนั้นหรือได้เป็นผู้กระทำการดังกล่าว ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 76” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 76 ” ในประเทศไทย 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2558
กองทัพบกเป็นส่วนราชการ สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด และกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2503 มาตรา 8 ซึ่งใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ กระทรวงกลาโหมจึงมีอำนาจควบคุมดูแลกิจการในกองบัญชาการทหารสูงสุดตลอดไปถึงกิจการในกองทัพบก สิบเอก ต. เป็นทหารสังกัดกองทัพบก จึงถือว่าเป็นทหารในสังกัดของกองบัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมจำเลยด้วย เมื่อสิบเอก ต. ขับรถบรรทุกน้ำคันเกิดเหตุตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ซึ่งทั้งกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมจำเลยต่างเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องทั้งกองทัพบกซึ่งเป็นต้นสังกัดโดยตรง และฟ้องกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นต้นสังกัดในลำดับสูงขึ้นไปได้ด้วย การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องกระทรวงกลาโหมให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่สิบเอก ต. ซึ่งถือเป็นผู้แทนของจำเลยผู้กระทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 76 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 76, ม. 420


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5093/2556
กรณีโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดทางละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งโจทก์ให้การปฏิเสธ เมื่อคดีถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดต่อผู้เสียหายและโจทก์วางเงินชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจำเลยผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์วางเงินดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 9
ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน แม้คำพิพากษาจะกำหนดให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหาย แต่ก็เป็นความรับผิดในฐานะนิติบุคคลเพื่อเยียวยาแก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้วจึงให้โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้แทนนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 เมื่อโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีสิทธิไล่เบี้ยได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่มีผลใช้บังคับก่อนเกิดเหตุคดีนี้จึงต้องบังคับตาม มาตรา 8 วรรคสี่ ที่มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสามผู้ทำละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยทั้งสามแต่ละคนจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 76
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 8, ม. 9


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2554
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2548 โจทก์สั่งซื้อสินค้าเป็นกล่องใส่ซีดีทำด้วยดีบุก จำนวน 5,000,000 ใบราคา 1,470,432 ดอลลาร์สหรัฐ และของเล่นเป็นรถไฟฟ้าทำด้วยไม้ระบบโซนิค จำนวน 5,501,500 ชิ้น ราคา 1,603,429 ดอลลาร์สหรัฐ จากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ชำระเงินมัดจำร้อยละ 20 ของราคาสินค้าในแต่ละประเภทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าทั้งสองประเภทและไม่คืนเงินมัดจำ จึงเป็นการผิดสัญญาต้องคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้ในการติดต่อซื้อขายสินค้ากับโจทก์ โจทก์ติดต่อผ่านจำเลยที่ 2 โดยการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงจำเลยที่ 1 แต่ข้อความดังกล่าวจำเลยที่ 2 เขียนเพื่อแจ้งรายละเอียดของวันเวลาตามแผนงานการผลิตกล่องใส่ซีดีตั้งแต่วันเริ่มออกแบบจนถึงวันที่จัดส่งสินค้าเสร็จสิ้น และแจ้งราคาค่าเครื่องมือสำหรับผลิตกล่องใส่ซีดีและรถไฟไม้ให้โจทก์ทราบ รวมถึงการนัดหมายเชื้อเชิญให้โจทก์มาเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปในฐานะส่วนตัว อีกทั้งหลักฐานการโอนเงินก็เป็นชื่อบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว มิใช่จำเลยที่ 2 ประกอบกับการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นิติบุคคลย่อมจะต้องกระทำโดยผ่านจำเลยที่ 2 ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายสินค้าที่พิพาทกับโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพราะกระทำละเมิดแอบอ้างชื่อจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ นั้น ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามมูลหนี้สัญญาซื้อขาย โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิด ข้ออ้างดังกล่าวถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินฯ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 66, ม. 76, ม. 77
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 45
ป.วิ.พ. ม. 225
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที