Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 745 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 745 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 745” คืออะไร? 


“มาตรา 745” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 745 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 745” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 745 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8334/2563
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ฉบับแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป กรณีไม่มีเหตุอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ส่วนฉบับที่สอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี โดยมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีเนื่องจากผู้ร้องทิ้งคำร้อง คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่งดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งยกคำร้องเพราะฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์เดิมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคำร้องของผู้ร้องฉบับที่สามอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า แม้คดีนี้จะยังไม่มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ตาม แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับที่สามนี้ จึงเป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิในฐานะผู้รับจำนอง ถือว่าการร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องในฉบับที่สามนี้เป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิโดยอาศัยเหตุที่มาคนละเหตุกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับที่สามจึงอาศัยเหตุที่ต้องวินิจฉัยแตกต่างจากคำร้องฉบับแรก การยื่นคำร้องฉบับที่สามของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่งการที่โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็มีผลเพียงทำให้โจทก์เดิมหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าวแต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ทั้งนี้โจทก์เดิมจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ประกอบกับการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์นั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนสิทธิการรับจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 745
ป.วิ.พ. ม. 144 วรรคหนึ่ง, ม. 271 (เดิม), ม. 287 (เดิม)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7397/2561
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) มีผลเพียงทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าว แต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745
การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์ที่โจทก์นำยึดและขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง มีสิทธิขอกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 745
ป.วิ.พ. ม. 271 (เดิม), ม. 287 (เดิม)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 401/2561
แม้ผู้ร้องจะมิได้ร้องขอให้บังคับคดีในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายในสิบปี อันทำให้สิ้นสิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่อย่างไรก็ดี ทรัพย์สิทธิจำนองของผู้ร้องยังคงอยู่ ซึ่งการบังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนองของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวจากจำเลย ศ. และ ส. จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินจำนองในคดีนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นคดีนี้ให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 และในกรณีที่โจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด (เดิม)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/27, ม. 745
ป.วิ.พ. ม. 271 (เดิม), ม. 287 (เดิม), ม. 290 วรรคแปด (เดิม)
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที