Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 738 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 738 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 738” คืออะไร? 


“มาตรา 738” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 738 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้รับโอนซึ่งประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น
              คำเสนอนั้นให้แจ้งข้อความทั้งหลายต่อไปนี้ คือ
              (๑) ตำแหน่งแหล่งที่และลักษณะแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง
              (๒) วันซึ่งโอนกรรมสิทธิ์
              (๓) ชื่อเจ้าของเดิม
              (๔) ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน
              (๕) จำนวนเงินที่เสนอว่าจะใช้
              (๖) คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน
              อนึ่งให้คัดสำเนารายงานจดทะเบียนของเจ้าพนักงานในเรื่องทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น อันเจ้าพนักงานรับรองว่าเป็นสำเนาถูกถ้วนสอดส่งไปด้วย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 738” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 738 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2564
จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรโดยติดจำนองและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการดำเนินการทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องถือว่าผู้จำนองเดิมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่จำนองอีกต่อไป และจำเลยได้สิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อโดยสมบูรณ์แล้ว แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 และโจทก์ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามมาตรา 735 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองภายในกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองและควรทราบถึงภาระหนี้จำนองมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง จึงต้องชำระหนี้จำนวนรวม 2,650,000 บาท พร้อมด้วยอุปกรณ์ คือดอกเบี้ยของต้นเงินตามสัญญาจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 ประกอบมาตรา 738 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.10499/2559 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้จำนองรับผิดชำระเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจึงต้องรับผิดไม่เกินกว่าภาระหนี้จำนองของผู้จำนองดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 715, ม. 735 (ใหม่), ม. 738


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8736/2563
จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 มาจากการขายทอดตลาดโดยติดจำนองไม่ได้เป็นคู่สัญญาที่จะต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มีหน้าที่ปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้เสนอคำขอไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองไปยังโจทก์ โจทก์ได้รับคำเสนอดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 หากโจทก์ไม่ยอมรับคำเสนอก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 เดือนนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองนั้นตามมาตรา 739 แต่โจทก์เพียงแต่มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ขอปฏิเสธข้อเสนอชำระค่าไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ 2 หากจะไถ่ถอนจำนองจะต้องชำระตามภาระหนี้จำนอง โดยไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 เดือนนับแต่วันมีคำเสนอ โจทก์จึงต้องถูกผูกพันตามคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ 2 โดยถือว่าเป็นการสนองรับโดยปริยายตามมาตรา 739 และมาตรา 741 จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิไถ่ถอนจำนองในวงเงินตามที่เสนอ แต่ภาระจำนองจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอขอไถ่ถอนดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่ยอมรับราคาตามที่จำเลยที่ 2 เสนอ แต่เมื่อถือว่าโจทก์สนองรับราคาตามที่จำเลยที่ 2 เสนอแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำเสนอดังกล่าวด้วย โดยต้องไถ่ถอนจำนองตามราคาที่เสนอซึ่งถือเป็นหนี้เงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินตามราคาที่เสนอไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามคำเสนอตามมาตรา 330 และ 331 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดตามคำเสนอราคาไถ่ถอนจำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์ขอไถ่ถอนทรัพย์จำนองภายใน 30 วัน โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2557 กรณีจึงต้องถือว่าการสนองรับคำเสนอราคาไถ่ถอนของจำเลยที่ 2 มีผลวันที่ 25 ธันวาคม 2557 กำหนดเวลา 30 วัน ที่จำเลยที่ 2 ต้องวางเงินจึงตรงกับวันที่ 24 มกราคม 2558 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 25 มกราคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224 วรรคหนึ่ง, ม. 330, ม. 331, ม. 738, ม. 739, ม. 741


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2555
จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งโดยติดจำนองย่อมมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง หาทำให้มีฐานะเป็นผู้จำนองไม่ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น หากโจทก์ไม่ยอมรับก็ต้องฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 และ 739 แต่ถ้าจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองดังกล่าว โดยโจทก์จะบังคับจำนองก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้และผู้จำนองตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง อันเนื่องมาจากข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้หนี้จนครบถ้วน โจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองให้รับผิดในฐานะผู้จำนองแก่โจทก์ด้วยหาได้ไม่ แม้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ย่อมเป็นคำขอที่เกินเลยไปกว่าสิทธิที่โจทก์พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และแม้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลาย เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองที่จำเลยรับโอนจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 แต่โจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเท่านั้น หากได้เงินสุทธิน้อยกว่าที่ค้างชำระและยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไม่จำต้องรับผิดในหนี้นั้น โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (1)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 735, ม. 738, ม. 739
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 6, ม. 10 (1)
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที