Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 716 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 716 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 716” คืออะไร? 


“มาตรา 716” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 716 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 716” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 716 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15161/2558
คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางขอหักส่วนได้ของตนในฐานะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดเพื่อใช้แทนราคาซื้อจากการขายทอดตลาดนั้น ผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในเรื่องนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้อง กรณีจึงเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าคำร้องนี้อาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว การที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องได้ต้องให้คู่ความที่เกี่ยวข้องมีโอกาสคัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์หักส่วนได้ใช้แทนโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองคัดค้านก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นกรณีที่ศาลล้มละลายกลางไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายในการพิจารณาคดีดังกล่าวอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
จำเลยและผู้ซื้อทรัพย์ร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยไว้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 ส่วนผู้ซื้อทรัพย์ในฐานะผู้จำนองก็มีภาระหนี้จำนองที่จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่ผู้ร้องและจะขอกันส่วนในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยยังไม่ได้ชำระหนี้จำนองเสียก่อนไม่ได้ เนื่องจากเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องในการบังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองทั้งหมดดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนของตนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึด ส่วนหากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้พอชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องแล้วมีเงินเหลืออยู่อีกก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการจ่ายคืนส่วนของผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในภายหลังต่อไป อันเป็นคนละเรื่องคนละส่วนกับเรื่องนี้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 716
ป.วิ.พ. ม. 21 (2), ม. 27
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 14
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 146


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4803/2553
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง เมื่อบุคคลทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันสินสมรสต้องแบ่งให้แก่จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องคนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 จำเลยที่ 1 และผู้ร้องจดทะเบียนหย่ากันโดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่ผู้ร้องแต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้จึงไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังคงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่าๆ กัน

นับแต่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินสินสมรสเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2517 แก่ ส. ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน ก็ได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนจำนองแก่นิติบุคคลอื่นอีกหลายรายต่อเนื่องกันมาโดยตลอดจนถึงโจทก์ซึ่งจดทะเบียนรับจำนองครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 19 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ใช้สิทธิโต้แย้งการทำนิติกรรมจำนองของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้รับรู้และไม่คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบให้รับฟังได้ว่าโจทก์จดทะเบียนรับจำนองโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จำนองแต่ผู้เดียว ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าโจทก์รับจำนองโดยสุจริต นิติกรรมจำนองทรัพย์สินดังกล่าวจึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองได้ทั้งหมดเพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่ผู้ร้องและบุคคลทั่วไป อีกทั้งถือได้ว่าการยื่นคำร้องขอกันส่วนของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 525, ม. 716, ม. 1533
ป.วิ.พ. ม. 287


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2545
โจทก์และจำเลยถูกผู้ร้องฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์สินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับจำนองทรัพย์พิพาทไว้โดยไม่สุจริต ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมจำนองจึงพิพากษายกฟ้อง ผลของคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทได้ นิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์พิพาทได้ทั้งหมดเพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่บุคคลทั่วไปได้ ส่วนคดีที่ผู้ร้องฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาแม้ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่ผู้ร้องก็มีผลผูกพันเฉพาะผู้ร้องกับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว หามีผลต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 716
ป.วิ.พ. ม. 145 วรรคหนึ่ง, ม. 287
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที