Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 715 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 715 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 715” คืออะไร? 


“มาตรา 715” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 715 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ
              (๑) ดอกเบี้ย
              (๒) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้
              (๓) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 715” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 715 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046/2564
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 52 เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ย ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต้นเงินที่คงเหลือตามสัญญาจำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิของผู้รับจำนองตามกฎหมาย ย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 715
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 50 วรรคสอง, ม. 52


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2564
จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรโดยติดจำนองและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการดำเนินการทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องถือว่าผู้จำนองเดิมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่จำนองอีกต่อไป และจำเลยได้สิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อโดยสมบูรณ์แล้ว แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 และโจทก์ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามมาตรา 735 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองภายในกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองและควรทราบถึงภาระหนี้จำนองมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง จึงต้องชำระหนี้จำนวนรวม 2,650,000 บาท พร้อมด้วยอุปกรณ์ คือดอกเบี้ยของต้นเงินตามสัญญาจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 ประกอบมาตรา 738 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.10499/2559 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้จำนองรับผิดชำระเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจึงต้องรับผิดไม่เกินกว่าภาระหนี้จำนองของผู้จำนองดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 715, ม. 735 (ใหม่), ม. 738


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7128/2555
ทรัพย์จำนองถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นนำยึดออกขายทอดตลาดโดยติดจำนอง จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์ติดจำนองดังกล่าว ส่วนคดีที่โจทก์ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้จำนองศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดโจทก์มิได้บังคับคดีจนล่วงเลย 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่การจำนองหาระงับสิ้นไปไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (1) (3) เพราะมิใช่กรณีหนี้ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความหรือผู้จำนองหลุดพ้น การจำนองจึงยังมีอยู่โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนอง แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 เมื่อจำเลยซื้อทรัพย์ติดจำนอง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองแก่จำเลยจากทรัพย์นั้นได้ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย (2) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ (3) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในการบังคับจำนองได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองมีข้อตกลงว่าผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในการบังคับจำนองทรัพย์พิพาทได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาจำนองได้ แม้จำเลยไม่ใช่ผู้กู้และมิได้เป็นคู่สัญญาจำนองกับโจทก์ก็ตาม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/27, ม. 715, ม. 744 (1), ม. 744 (3), ม. 745
ป.วิ.พ. ม. 271
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที