“มาตรา 71 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 71” คืออะไร?
“มาตรา 71” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 71 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในกรณีที่นิติบุคคลมีผู้แทนหลายคน การดำเนินกิจการของนิติบุคคลให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้แทนของนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้เป็นประการอื่นในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 71” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 71 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5330/2561
ตามหนังสือรับรองมีข้อความจำกัดอำนาจของ อ. ให้ลงลายมือชื่อและประทับตราผูกพันบริษัทได้เฉพาะในเรื่องที่เป็นคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรเท่านั้น การยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การฟ้องคดีหรือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มิใช่คำขอที่เกี่ยวกับการจดทะเบียน แต่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของนิติบุคคลที่แสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดย อ. ลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็รับไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ แต่ลดเบี้ยปรับให้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ธ) บัญญัติให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น โดยไม่ได้กำหนดโดยเฉพาะเจาะจงว่าผู้ขายสินค้าหรือให้บริการต้องเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการศาสนาหรือการสาธารณกุศล หากดูที่วัตถุประสงค์ของการขายสินค้าหรือการให้บริการเป็นสำคัญว่าถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่นแล้วย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) เมื่อมูลนิธิสวนแก้วนำสิ่งของที่โจทก์บริจาคไปใช้เพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ โดยไม่ได้ช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ หากเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้โดยทั่วไปในสังคม การที่โจทก์บริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิต (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิสวนแก้ว จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 70, ม. 71
ป.รัษฎากร ม. 81 (1), ม. 81 (ธ), ม. 81 (น)
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13140/2556
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองขอนแก่นให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นที่ไม่ตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ของ บ. ตามหนังสือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นที่ ขก 0010/022 ลงวันที่ 22 เมษายน 2547 อันมีผลทำให้การสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการของ บ. เป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 14 คนได้พ้นสภาพจากการเป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ไปด้วย คณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลือจึงยังมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการส่วนที่เหลือทั้งสิบสี่คนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ มอบอำนาจให้ บ. และหรือ ส. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ จึงเป็นเสียงข้างมากตามบทบัญญัติมาตรา 71 แห่ง ป.พ.พ. ดังกล่าว หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 71
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4207/2543
แม้ความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจะแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม แต่กรณีที่นิติบุคคลมีผู้แทนหลายคน การดำเนินกิจการของนิติบุคคลกฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 71 และปรากฏตามหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการซึ่งมีอำนาจจัดการบริษัทโดยการกระทำให้มีผลผูกพันบริษัท ต้องมีกรรมการสองในห้าคนนี้ลงชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัท และในบรรดากรรมการดังกล่าวมีเพียงจำเลยที่ 4 ที่รู้ข้อเท็จจริงว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของโจทก์ แต่จำเลยที่ 4 กลับปกปิดไว้โดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้านี้เป็นของตนมาแต่แรก จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งต่อมาได้เป็นกรรมการบริษัทร่วมกับจำเลยที่ 4 ไม่รู้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 4 กรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งโดยลำพังไม่มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่าเครื่องหมายการค้าเป็นของโจทก์ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าขาดเจตนาอันจะเป็นมูลความผิดทางอาญาฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าและจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 59
ป.พ.พ. ม. 70, ม. 71
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 108