Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 708 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 708 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 708” คืออะไร? 


“มาตรา 708” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 708 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ สัญญาจำนองนั้นต้องมีจำนวนเงินระบุไว้เป็นเรือนเงินไทยเป็นจำนวนแน่ตรงตัว หรือจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองนั้นตราไว้เป็นประกัน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 708” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 708 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2553
การแปลความหมายแห่งสัญญานั้นจะต้องดูข้อความที่ปรากฏในสัญญาทั้งฉบับและเจตนาของคู่สัญญาที่มุ่งทำสัญญาต่อกัน ตามสัญญาจำนองมีข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และ ผ. จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ตามสัญญาฝากเก็บและแปรสภาพข้าวเปลือกของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้กับโจทก์เป็นเงินแต่ละจำนวนที่ระบุไว้ตามลำดับ ซึ่งเป็นการระบุจำนวนต้นเงินไว้ชัดแจ้งแน่นอน แสดงให้เห็นว่าผู้จำนองแต่ละคนมีเจตนาจำนองที่ดินซึ่งประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงินที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองเท่านั้น แม้สัญญาจำนองจะมีข้อสัญญาด้วยว่า เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์ซึ่งจำนองนี้ออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ ดังได้กล่าวแล้วนั้นเงินยังขาดอยู่จำนวนเท่าใด ผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวน ก็มีความหมายแต่เพียงว่าผู้จำนองแต่ละคนยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาภายในต้นเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระของต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีความหมายว่าจะต้องรับผิดชำระหนี้ที่ขาดจำนวนหลังจากบังคับจำนองซึ่งเท่ากับจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งจำนวนไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 708, ม. 715, ม. 733


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2551
โจทก์ไม่สามารถสืบให้สมตามประเด็นข้อพิพาทที่ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงหรือไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน และจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองอีกด้วย เพราะตาม ป.พ.พ.มาตรา 702 บัญญัติว่า "อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง" เมื่อการจำนองมิได้เป็นการประกันการชำระหนี้กู้ยืม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง เนื่องจากจำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานอันเป็นหนี้กู้ยืม เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดตามหนี้ประธาน จำเลยก็หาจำต้องรับผิดในหนี้อุปกรณ์ต่อโจทก์ด้วยไม่
หนี้ประธานในกรณีที่จำเลยจดทะเบียนจำนองนั้นเป็นหนี้การประกันดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เมื่อหนี้ประธานยังมิได้มีกำหนดจำนวนที่แน่นอน ศาลย่อมมิอาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดในหนี้จำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้เนื่องจากยังไม่ปรากฏหนี้อันเป็นที่แน่ชัดว่ามีจำนวนค้างชำระ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 702, ม. 708


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2542
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินประกันหนี้ ของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดวงเงินไว้ 710,000 บาท 1,120,000 บาท และ 870,000 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีความรับผิดชอบตามสัญญาจำนองในต้นเงินดังกล่าว ส่วนข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่กำหนดว่าจำนวนเงินต้น ตามสัญญาไม่ตัดสิทธิผู้รับจำนองจะบังคับจำนองสำหรับต้นเงิน ที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เพราะมีดอกเบี้ย หรือหนี้อุปกรณ์ รวมกันเกินวงเงินที่กำหนดไว้นั้น เป็นข้อตกลงที่ใช้ได้เพราะ ผู้จำนองต้องรับผิดดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 อยู่แล้ว แต่ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้จำนองต้องรับผิดสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตาม สัญญาจำนองไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอนหรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดทีได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีดอกเบี้ยหรือ หนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินเท่านั้น สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า กรณีผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้นับแต่ วันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาจำนองจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน แต่เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามวงเงินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาจำนอง ตั้งแต่เมื่อใด คงได้ความตามหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และ ไถ่ถอนจำนองว่า ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 4,441,139.09 บาท ซึ่งเกินวงเงินตามสัญญาจำนอง ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญากับโจทก์ไว้ โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยโดยวิธีทบต้นตั้งแต่วันดังกล่าวในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีจนถึงวันที่สิ้นสุดคำบอกกล่าวและหักทอนบัญชีได้ หลังจากนั้นต้องคิดดอกเบี้ยอัตราเดิมแบบไม่ทบต้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 655, ม. 708, ม. 715, ม. 856
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที