Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 705 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 705 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 705” คืออะไร? 


“มาตรา 705” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 705 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 705” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 705 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2565
ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของ จ. ว่า จำเลยที่ 4 ปลอมลายมือชื่อตน ทำรายงานการประชุมเท็จ และนำห้องชุด 20 ห้องของจำเลยที่ 5 ไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ตามฟ้อง และ จ. มาฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ผลแห่งคดีเป็นเช่นไร ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนั้น ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยที่ 5 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โดยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองห้องชุด 20 ห้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร ข้ออ้างของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์มิอาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 5 ดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกา ประกอบกับโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 5 โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันโดยไม่เพิ่มวงเงิน รวม 20 ห้องชุด และตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 379, ม. 383, ม. 705, ม. 733


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2565
ข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์เกินจากส่วนที่จำเลยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งเป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้กล่าวอ้างตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำร้อง และนำสืบไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยแม้เดิมสิทธิตามส่วนในที่ดินพิพาทของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นสิทธิที่ได้มาจากการรับมรดกจากเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยและทายาทอื่นได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาท ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกระงับสิ้นไปและทำให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทอื่นได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ตามส่วนในที่ดินพิพาทที่ได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม เมื่อยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปรากฏชื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในทะเบียนที่ดิน สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคงมีผลผูกพันและบังคับได้ระหว่างคู่กรณีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะบุคคลสิทธิ โดยไม่อาจกล่าวอ้างหรือบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทในส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในขณะที่สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สินนั้น โดยยังคงให้ปรากฏชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จะอ้างบทบัญญัติมาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อันมีผลเป็นการบังคับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 705, ม. 852, ม. 1299, ม. 1722
ป.วิ.พ. ม. 225, ม. 252
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 7


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14595/2558
ป.พ.พ. ลักษณะ 12 จำนอง หมวด 5 สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มาตรา 736 ถึงมาตรา 743 ได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ ย่อมแสดงว่า ผู้จำนองย่อมมีสิทธิโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไปยังบุคคลอื่นได้ในฐานะที่ผู้จำนองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ผู้จำนองจึงมีสิทธิจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งจำนองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และมาตรา 702 วรรคสอง คดีนี้ไม่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิการโอนที่ดินพิพาทจาก ร. ให้แก่ทางราชการ และผู้รับจำนองได้ฟ้องบังคับจำนองและจดทะเบียนระงับจำนองไป กรณีไม่อาจปรับเข้ากับ ป.พ.พ. มาตรา 722 ซึ่งเป็นเรื่องขอให้ลบสิทธิที่จดทะเบียนออกจากทะเบียน หากผู้รับจำนองเสื่อมสิทธิได้รับความเสียหายอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับจำนองต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้จำนองต่อไป ร. ผู้จำนองจึงมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการได้ เมื่อ ร. ได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่ทางราชการเพื่อก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมพัฒนาชุมชน ซึ่งต่อมาโอนสิทธิและหน้าที่ให้แก่จำเลย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะนับแต่วันที่ ร. แสดงเจตนายกให้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 การอุทิศที่ดินพิพาทของ ร. ให้แก่ทางราชการจึงชอบด้วยกฎหมาย
ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินเฉพาะที่ดินพิพาท จึงเป็นการขายทรัพย์สินที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ธนาคาร อ. ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์รับโอนไว้ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทต่อมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนก็ตาม เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 525, ม. 705, ม. 1304 (3), ม. 1305
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที