Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 692 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 692 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 692” คืออะไร? 


“มาตรา 692” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 692 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 692” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 692 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2561
การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์
จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ
จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/12, ม. 193/14 (3), ม. 193/15 วรรคหนึ่ง, ม. 295, ม. 692
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 91


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558
คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/14 (2), ม. 295, ม. 692, ม. 1489, ม. 1490 (4)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10098/2558
การที่ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 6 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 7 ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ ซึ่งมีผลต่อผู้ค้ำประกันด้วย เมื่อสัญญากู้ยืมเงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนี้ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ผู้ร้องมีหนังสือให้ลูกหนี้ที่ 7 มาปรับโครงสร้างหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรก ลูกหนี้ที่ 7 ได้รับหนังสือ ครั้งที่ 2 ลูกหนี้ที่ 7 ไม่มารับหนังสือภายในกำหนด ผู้ร้องจึงประกาศหนังสือพิมพ์แทน แต่ลูกหนี้ที่ 7 มิได้มาติดต่อกับเจ้าหนี้แต่ประการใด จึงถือว่าลูกหนี้ที่ 7 ไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่เจ้าหนี้สั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ส่วนที่ลูกหนี้ที่ 7 ยื่นคำคัดค้านต่อสู้ว่า ตนเองมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้นั้น ก็มิได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่าตนเองมีทรัพย์สินใดบ้างพอชำระหนี้หรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ตามที่ลูกหนี้ที่ 7 อ้าง กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ที่ 7 ล้มละลาย แต่ลูกหนี้ที่ 7 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 7 เด็ดขาดตามที่ผู้ร้องขอมาในอุทธรณ์ไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ 7 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 87 และมาตรา 84
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/14, ม. 193/30, ม. 692
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 84, ม. 87
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ม. 58 วรรคสี่
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที