Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 686 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 686” คืออะไร? 


“มาตรา 686” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 686 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
              ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง

 


              เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นำความในมาตรา ๗๐๑ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
              ในระหว่างที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามวรรคสาม เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้
              การชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา ๖๙๓ “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 686” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 686 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2565
แม้สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่มาตรา 19 บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ขอให้จำเลยที่ 6 ชำระเงินตามภาระหนี้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นหนังสือบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 6 ทราบภายในหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 686
ป.วิ.พ. ม. 55


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2565
ในการผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาในสัญญาและไม่ครบจำนวนหลายครั้ง แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้ โจทก์ก็ยอมรับชำระไว้ทุกครั้งโดยไม่ได้ทักท้วง พฤติการณ์ย่อมแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาในสัญญาเป็นสาระสำคัญ กรณีจึงถือว่าเป็นหนี้ไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งถึงกำหนดชำระหนี้โดยพลัน และจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องเตือนให้ชำระหนี้ก่อน แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 และวันที่ 1 เมษายน 2562 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือในวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 และต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2562 ซึ่งภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับไว้เองในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 กรณีจึงถือได้ว่า เป็นการที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด อันเป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 203, ม. 204, ม. 686


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2564
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันและจำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวทวงถามและมีหนังสือบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือหักทอนทางบัญชีกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 30 กันยายน 2554 หลังจากนั้นไม่มีการเบิกถอนเงินอีก แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ ไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันอีก สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโดยปริยาย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นกับจำเลยที่ 1 ได้อีก จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อโจทก์ทวงถาม โดยโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัด หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต่อโจทก์ ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงิน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ครั้งสุดท้ายวันที่ 20 ธันวาคม 2559 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระงวดถัดไป ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 จึงเป็นการบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นความรับผิด สำหรับค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ และโจทก์บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทดรองจ่ายไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 204 วรรคแรก, ม. 686, ม. 856
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที