Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-29

มาตรา 68 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 68 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 68” คืออะไร? 


“มาตรา 68” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 68 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ทำการ หรือถิ่นที่ได้เลือกเอาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 68” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 68 ” ในประเทศไทย 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832/2559
ป.พ.พ. มาตรา 68 บัญญัติว่า "ภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ทำการ..." และ ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของบุคคลนั้น... ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้" ตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2553 จำเลยมิได้จดทะเบียนเลิกกิจการหรือเปลี่ยนแปลงที่ทำการ จึงถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม เมื่อโจทก์ส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายในประเทศไปยังภูมิลำเนาของจำเลยและมีผู้ลงลายมือชื่อรับไว้ในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งจำเลยนำสืบยอมรับว่ามีการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทจำเลยไว้ จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยชอบด้วยมาตรา 8 แล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 68
ป.รัษฎากร ม. 8


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8565 - 8566/2558
แม้จำเลยที่ 6 จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แต่เมื่อจำเลยที่ 6 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดระบบแสง สี เสียง ภาพ ประกอบการแสดง เวทีการแสดงต่าง ๆ การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 6 รับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงในการทำฉากเอฟเฟกต์ในร้านเกิดเหตุตามขอบแห่งวัตถุประสงค์ ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญา แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วยเช่นกัน
จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกัน เป็นไปไม่ได้เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 หรือไม่
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นนิติบุคคล มี ส. เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริง เท่ากับโจทก์ยืนยันว่าบริษัทได้เชิด ส. ออกแสดงเป็นผู้แทนของตน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนตามหนังสือรับรองแต่ก็เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโดยผ่านทาง ส. นั่นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ที่กำหนดให้ความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันหรือเป็นไปไม่ได้ดังคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 หากแต่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.อ. ม. 158, ม. 216
ป.อ. ม. 59, ม. 83
ป.พ.พ. ม. 68, ม. 72, ม. 806, ม. 1167


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5465 - 5466/2555
จำเลยเช่าห้องชุดจากผู้ร้อง สัญญาเช่าข้อ 19 ที่มีข้อความว่า "ในกรณีผู้เช่าไม่ขนย้ายทรัพย์สินหรือสิ่งของต่างๆ ของผู้เช่าออกจากสถานที่ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่การเช่าสิ้นสุดลง ผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้ โดยผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่ามารับคืนภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้เช่าได้รับหนังสือแจ้ง หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวผู้เช่าไม่ติดต่อขอรับคืน ให้ทรัพย์สินของผู้เช่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า" เป็นกรณีจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าตกลงสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่า ไม่มีลักษณะที่ผู้ร้องได้เปรียบจนเกินสมควรและไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม สัญญาข้อนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ผู้ร้องส่งหนังสือแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินพิพาทออกจากสถานที่เช่าไปยังห้องชุดที่จำเลยเช่าอันเป็นสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 68 แล้ว แต่ผู้ร้องยังไม่ได้แจ้งให้จำเลยมารับทรัพย์สินพิพาทคืนภายในกำหนด 1 เดือน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทของจำเลยจึงไม่ตกเป็นของผู้ร้องตามสัญญาเช่าข้อ 19 โจทก์ทั้งสองมีสิทธินำยึดทรัพย์สินพิพาทตามบัญชียึดทรัพย์

ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 68, ม. 150
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที