Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 672 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 672” คืออะไร? 


“มาตรา 672” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 672 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
              อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 672” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 672 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2565
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ใช้บังคับแก่เงินของเอกชนและเงินของรัฐที่ฝากธนาคาร แม้เงินงบประมาณเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่เมื่อส่วนราชการตั้งฎีกาขอเบิกเงินงบประมาณแล้ว กระทรวงการคลังโอนเงินงบประมาณเข้าบัญชีเงินฝากของส่วนราชการนั้นที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคาร ก. เมื่อธนาคาร ก. ได้รับเงินงบประมาณดังกล่าวเข้าสู่บัญชีเงินฝากของส่วนราชการแล้ว เงินฝากนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ก. ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการเจ้าของบัญชีเงินฝากอีกต่อไป ธนาคาร ก. คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินฝากให้แก่เจ้าของบัญชีเงินฝากหรือกระทรวงการคลังครบจำนวนเท่านั้น เมื่อได้ความว่า จําเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่ายตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 43 และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ธนาคาร ก. ดังนั้นธนาคาร ก. ย่อมไม่มีสิทธินําเงินที่ธนาคารจ่ายตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 43 ไปลงรายการเบิกถอนเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 1008 แต่เมื่อธนาคาร ก. ลงรายการเบิกถอนเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์แล้วจึงมีหน้าที่ต้องเพิกถอนรายการเบิกถอนเงินดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ธนาคาร ก. โอนเงิน 9,752,000 บาท เท่ากับกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 43 เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ อันเป็นการชดใช้ตามสัญญาฝากทรัพย์ ซึ่งน่าจะเป็นกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ที่เสียหายมีส่วนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย โดยโจทก์และธนาคาร ก. เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 จึงมีมติให้ธนาคาร ก. คืนเงินแก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าธนาคาร ก. เพิกถอนรายการเบิกถอนเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 43 ฉบับละกึ่งหนึ่ง ซึ่งมีผลให้จำนวนเงินกึ่งหนึ่งตามเช็คฉบับที่ 3 ถึงที่ 25 ฉบับที่ 27 ถึงที่ 39 และฉบับที่ 41 ถึงที่ 43 ที่ธนาคาร ก. จ่ายเงินตามเช็คโดยฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจําเลยที่ 2 และที่ 3 โดยผิดวัตถุประสงค์ที่โจทก์ย่อมไม่ให้เบิกถอนเงิน หากไม่มีหนี้ที่ต้องชำระ เงินอีกกึ่งหนึ่งนั้นยังคงเป็นสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิติดตามและเอาเงินดังกล่าวคืนจากจําเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จําเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจําเลยที่ 1 รับผิดคืนเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินตามเช็คฉบับที่ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 รวมเป็นเงิน 1,705,405 บาท พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจําเลยที่ 2 ให้ชําระหนี้ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2559 แต่จําเลยที่ 2 ไม่ชําระหนี้แก่โจทก์ จําเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 จําเลยที่ 2 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันดังกล่าวของต้นเงินเต็มจำนวนตามเช็คแต่ละฉบับ นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2560 และของต้นเงินกึ่งหนึ่งตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 จนกว่าชําระเสร็จแก่โจทก์ และจําเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจําเลยที่ 1 รับผิดคืนเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินตามเช็คฉบับที่ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 รวมเป็นเงิน 7,433,551 บาท พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจําเลยที่ 3 ให้ชําระหนี้ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2559 แต่จําเลยที่ 3 ไม่ชําระหนี้แก่โจทก์ จําเลยที่ 3 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 จําเลยที่ 3 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันดังกล่าวของต้นเงินเต็มจำนวนตามเช็คแต่ละฉบับ นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2560 และของต้นเงินกึ่งหนึ่งตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 จนกว่าชําระเสร็จแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 672


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5120 - 5122/2562
เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ อ. ขออนุมัติถอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับเงิน เพื่อนำไปฝากยังธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 สาขาสุวินทวงศ์ ไม่ได้มีการนำเข้าฝากที่สาขาดังกล่าว แต่กลับนำไปฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ในบัญชีชื่อของ พ. ที่สาขาดิอเวนิว โดยไม่ปรากฏเหตุที่จะอ้างโดยชอบ จากนั้นมีการโอนเงินไปยังบุคคลต่าง ๆ แม้เงินที่ฝากจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝากคือธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกถอนออกมาและนำไปฝากโดยผิดวัตถุประสงค์ บุคคลอื่นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามจำนวนที่เบิกถอนมาจากบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่อาจอ้างสิทธิใดได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก อ. กับพวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้ต่อมาจะมีการถ่ายโอนเงินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือนำไปดำเนินการอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่ตกเป็นของแผ่นดินและต้องถูกดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้มีสิทธิที่แท้จริงจนครบจำนวน
ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็น "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่ได้จากการที่ผู้คัดค้านที่ 7 และ อ. กับพวกได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) (18) โอนเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 7 แล้วผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่รับโอนมาดังกล่าวซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 แล้วขายฝากทรัพย์สินนั้นไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และไม่ไถ่คืนในกำหนด เมื่อผู้คัดค้านที่ 9 ซื้อฝากทรัพย์สินรายการที่ 42 นี้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 9 ศาลย่อมสั่งคืนทรัพย์สินรายการนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 ทรัพย์สินรายการนี้จึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 7 กับพวก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนจากผู้คัดค้านที่ 7 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 ผู้คัดค้านที่ 7 จึงไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์สินรายการนี้ไว้ แต่ต้องคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อต่อมาผู้คัดค้านที่ 7 นำทรัพย์สินรายการนี้ไปขายฝากไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรายการนี้จะตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 แต่เมื่อผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 7 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 7 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในทรัพย์สินรายการนี้แทนผู้คัดค้านที่ 7 กรณีนี้เพื่อคุ้มครองผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงควรให้ดำเนินการเสมือนมีการใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากจากผู้คัดค้านที่ 9 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 9 จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินรายการนี้ตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้รับซื้อฝากได้ แต่ควรให้ผู้คัดค้านที่ 9 ได้รับเงินค่าสินไถ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาขายฝากโดยนำทรัพย์สินนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระสินไถ่แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และคืนส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1
เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็นส่วนของวิธีการที่จะให้ทรัพย์สินนั้นถูกนำไปคืนแก่ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้รับโอนทรัพย์สินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สินไถ่ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้เงินที่แท้จริงซึ่งหากลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดก็ให้คิดดอกเบี้ยตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่กำหนดดอกเบี้ยในสินไถ่ให้ผู้คัดค้านที่ 9
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224 วรรคหนึ่ง, ม. 491, ม. 672, ม. 1336
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 3 (5), ม. 3 (18), ม. 49 วรรคหก, ม. 50 วรรคหนึ่ง (2), ม. 51/1


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2561
ก. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงาน บางครั้งจะให้ ศ. พนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่าย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ลักเช็คพิพาททั้งสิบเจ็ดฉบับไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หาก ก. ตรวจสอบก็จะทราบว่าลายมือที่ต้นขั้วเช็คเป็นของ ส. ไม่ใช่ลายมือของ ศ. โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คถึงสิบเจ็ดฉบับจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 223, ม. 420, ม. 438, ม. 442, ม. 672, ม. 1008
ป.วิ.พ. ม. 142
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที