Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 670 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 670 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 670” คืออะไร? 


“มาตรา 670” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 670 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “  ผู้รับฝากชอบที่จะยึดหน่วงเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นไว้ได้ จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้น“

 


2 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 670” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 670 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9383/2558
การส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้าที่ผู้ขายและผู้ซื้ออยู่ห่างกันโดยระยะทางต้องมีการขนส่งจากต้นทางมายังปลายทางโดยใช้บริการของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งโดยลักษณะการขนส่งประเภทนี้จะต้องมีการใช้ท่าเรือหรือท่าเทียบเรือในการบรรทุกและขนถ่ายสินค้าขึ้นลงจากเรือเดินทะเลตามแต่ลักษณะทางกายภาพของสินค้า มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถดำเนินการส่งมอบและรับมอบสินค้ากันให้เสร็จสิ้นตามสัญญาซื้อขายได้ และในขณะเดียวกันการที่สินค้าได้รับการขนส่งจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ยังเกี่ยวพันกับกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากผู้นำเข้าสินค้านั้นมาถึงปลายทาง การที่เรือเดินทางมาถึงท่าเทียบเรือที่โจทก์เป็นผู้บริหารและให้บริการ โดยมีการจัดเตรียมอาคารสถานที่ พื้นที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรไว้รองรับตั้งแต่การเข้าเทียบท่าของเรือ การบรรทุก การขนถ่าย การเคลื่อนย้ายสินค้ามายัง ไปจาก ขึ้น หรือลงจากเรือเดินทะเล จึงเป็นการจัดเตรียมไว้เพื่อให้การดำเนินการส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้าที่ต่อเนื่องจากการบริการของเรือเดินทะเลตามสัญญารับขนของทางทะเล ที่เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศให้ดำเนินไปและเสร็จสิ้นลงได้ และขณะเดียวกันก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าที่เข้ามาอยู่ในอารักขาของตน โดยที่ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายเป็น CIF Bangkok ผู้ขายจึงมีหน้าที่จัดหาผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลและชำระค่าระวางล่วงหน้า ดังนั้นจากข้อตกลงและพฤติการณ์ในทางปฏิบัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า การที่เรือที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ขนส่งได้บรรทุกสินค้ามาส่งมอบขึ้นที่ท่าเรือที่โจทก์ให้บริการ เป็นการนำมาส่งมอบไว้แก่โจทก์เพื่อให้จำเลยในฐานะผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายหรือผู้นำเข้าตามความหมายของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มารับการส่งมอบไปจากโจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณา ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 41 และมาตรา 10 ทวิ แล้วเห็นได้ว่า โจทก์ทราบล่วงหน้าว่าจำเลยจะเป็นผู้รับมอบสินค้า และเมื่อจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยนำเอกสารเกี่ยวกับการรับสินค้ามาติดต่อขอรับสินค้าจากโจทก์พร้อมชำระค่าภาระต่าง ๆ แล้วเท่านั้น โจทก์จึงจะส่งมอบสินค้าทั้งหมดให้แก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยได้ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนสินค้าแก่ผู้ใดก็จะคืนให้แก่ผู้นั้น พร้อมกันนั้นผู้นั้นก็จะต้องชำระค่าภาระต่าง ๆ แก่โจทก์ด้วย มิฉะนั้นโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าเหล่านั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระภาระต่าง ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 670 อันสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 61 และ 63 ซึ่งหมายถึงเมื่อของที่นำเข้ามากลายเป็นของตกค้างเพราะเหตุที่ไม่มีผู้ติดต่อขอรับและเสียค่าภาษี อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจสั่งให้จัดการกับของนั้นได้ เมื่อคำนึงถึงสิทธิหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศที่ผู้ซื้ออาจมีเหตุที่จะปฏิเสธการรับมอบสินค้าได้แล้ว ที่จำเลยยังมิได้แสดงเจตนาต่อโจทก์เพื่อขอรับสินค้าที่โจทก์เก็บรักษาไว้ไปจากการดูแลจากอารักขาของศุลกากร จำเลยจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระการให้บริการท่าเรือตามที่โจทก์เรียกร้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 665 วรรคหนึ่ง, ม. 670
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 10 ทวิ, ม. 41, ม. 61, ม. 63


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2748 - 2749/2515
จำเลยสั่งสินค้าจากต่างประเทศนำเข้ามาโดยทางเรือและขนถ่ายขึ้นที่ท่าเรือของโจทก์ แล้วฝากเก็บสินค้านั้นไว้ที่โรงพักสินค้าของโจทก์จำเลยย่อมมีความผูกพันตามสัญญาฝากทรัพย์ที่จะต้องชำระบำเหน็จค่าฝากให้โจทก์ แม้โจทก์จะเก็บรักษาทรัพย์ของจำเลยไม่ดีจนเป็นเหตุให้ทรัพย์นั้นเสื่อมเสียไปบ้าง ก็ไม่ทำให้สิทธิที่จะได้รับบำเหน็จค่าฝากของโจทก์ต้องสูญสิ้นไป ความเสียหายอันเกิดจากการเก็บรักษาทรัพย์ที่ฝากไว้ไม่ดีอย่างไรเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวเรียกร้องเอาแก่กันอีกส่วนหนึ่ง
การท่าเรือแห่งประเทศไทยโจทก์เป็นองค์การประกอบกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน มีบทกฎหมายพิเศษที่ก่อตั้งและรับรองโจทก์ ให้โจทก์มีอำนาจกำหนดอัตราค่าภาระการใช้ท่าเรือซึ่งรวมทั้งค่าฝากทรัพย์ที่เก็บไว้ที่ท่าเรือนั้นด้วย ผู้ใดมาใช้บริการเอาทรัพย์ฝากเก็บไว้ที่ท่าเรือ สัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับผู้นั้นก็เกิดขึ้นโดยไม่ต้องตกลงกันในเรื่องบำเหน็จค่าฝากดังเช่นกรณีของบุคคลธรรมดา เพราะเท่ากับคู่สัญญาได้ตกลงกันในตัวให้ถือตามอัตราที่โจทก์กำหนดแม้ภายหลังจากโจทก์รับฝากทรัพย์ของจำเลยไว้แล้ว โจทก์จะกำหนดอัตราค่าฝากทรัพย์ขึ้นใหม่สูงขึ้นกว่าเดิม ก็ถือได้ว่าอัตราค่าฝากใหม่นั้นเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในข้อตกลงเดิมในสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์จำเลยทั้งจำเลยก็รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ขึ้นราคาค่าฝาก แต่ไม่ขนทรัพย์ออกไปคงฝากไว้กับโจทก์อยู่เรื่อยมา จึงถือได้ว่าจำเลยตกลงยอมเสียค่าบำเหน็จค่าฝากให้โจทก์ตามอัตราใหม่ แม้จำนวนบำเหน็จค่าฝากจะท่วมราคาทรัพย์ที่ฝากมากก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้ว่า หากจำเลยต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ก็ขอหักกลบลบหนี้กันค่าเสียหายที่โจทก์เก็บรักษาทรัพย์ของจำเลยไม่ดีโดยจำเลยมิได้ฟ้องแย้ง ค่าเสียหายที่จำเลยกล่าวอ้างนี้ โจทก์นำสืบปฏิเสธว่าทรัพย์ของจำเลยไม่เสียหาย จึงเป็นหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยจะขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์หาได้ไม่
ทรัพย์ที่ฝากย่อมจะถูกยึดหน่วงเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระค่าฝาก แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยนำสินค้าของจำเลยออกไปจากโรงพักสินค้าของโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง และจำเลยได้จัดการปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นแล้ว โจทก์ก็ยังมีสิทธิยึดหน่วงสินค้านั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระบำเหน็จค่าฝาก แต่ต้องถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในส่วนที่บังคับให้จำเลยนำสินค้าออกไปแล้ว แม้สินค้าจะยังอยู่ในโรงพักสินค้าของโจทก์ต่อมาก็เป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิยึดถือเอาไว้เองตามสิทธิยึดหน่วงของโจทก์มิใช่จำเลยฝ่าฝืนไม่นำออกไป การคิดบำเหน็จค่าฝากทรัพย์จากจำเลยตามคำพิพากษาจึงต้องยุติลงในวันที่จำเลยไปขอขนสินค้าออกแล้วโจทก์ไม่ยอมให้ขน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 207, ม. 241, ม. 341, ม. 344, ม. 657, ม. 658, ม. 659, ม. 670
ป.วิ.พ. ม. 145, ม. 271
พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ม. 6, ม. 9
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที