Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-29

มาตรา 67 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 67 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 67” คืออะไร? 


“มาตรา 67” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 67 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๖๖ นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น  “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 67” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 67 ” ในประเทศไทย 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3901/2559
สำหรับคดีที่โจทก์ฟ้อง ธ. นั้น ศาลแรงงานกลาง (สมุทรปราการ) วินิจฉัยว่า ธ. ทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท พ. มิได้ทำสัญญากับโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีนิติสัมพันธ์กับ ธ. จึงฟังไม่ได้ว่า ธ. เป็นลูกจ้างโจทก์ และโจทก์ไม่อาจนำข้อห้ามต่าง ๆ ตามสัญญาจ้างมากล่าวอ้างว่า ธ. ปฏิบัติผิดสัญญาจนโจทก์ได้รับความเสียหายได้ พิพากษายกฟ้อง คดีดังกล่าวถึงที่สุดและผูกพันคู่ความทั้งในส่วนของผลคดีและข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัย ส่วนคดีนี้ แม้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคนละบุคคลกับ ธ. แต่ตามคำฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างว่า ธ. เป็นลูกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานที่ ธ. ทำกับบริษัท พ. และ ธ. ปฏิบัติผิดข้อตกลงในสัญญา นำความลับทางการค้าของโจทก์ไปใช้ในกิจการของบริษัทที่ ธ. กับภริยาตนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นสัญญาเดียวกับที่โจทก์นำมากล่าวอ้างในคดีก่อน ประเด็นในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์และ ธ. ทั้งสองคดีจึงเป็นประเด็นเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัยในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์คดีนี้ว่า ธ. ไม่ใช่ลูกจ้างโจทก์ และโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่อาจนำข้อห้ามต่าง ๆ ในสัญญาจ้างแรงงานมากล่าวอ้างว่า ธ. ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานได้ ปัญหาการรับฟังพยานหลักฐานผูกพันคู่ความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ธ. ทำสัญญาขายหุ้นของบริษัทโจทก์ให้แก่บริษัท อ. ก่อนที่ ธ. จะทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท พ. แม้บริษัท อ. จะควบรวมกิจการกับบริษัท จ. กลายเป็นบริษัท พ. และถือว่าบริษัท พ. สวมสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นที่ซื้อจาก ธ. แทนบริษัท อ. ก็ตาม แต่บริษัท พ. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิยกเอาข้อตกลงตามสัญญาขายหุ้นดังกล่าวที่ห้าม ธ. ประกอบธุรกิจหรือให้ข้อมูลแก่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นที่เป็นการแข่งขันทางธุรกิจกับโจทก์มากล่าวอ้างฟ้องร้องคดีนี้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 66, ม. 67
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2547
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคล ไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลงและหักทอนบัญชีกัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงิน ออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากคือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระ ดังนั้นจึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 มีการนำเงินเข้าฝากหลายครั้งรวม 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้นเงินประมาณ 2,132,418 บาท คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปีแบบไม่ทบต้นตามที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 67, ม. 314, ม. 655, ม. 657, ม. 698, ม. 744, ม. 856, ม. 1249, ม. 1270


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5804/2544
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำสัญญาซื้อขายคอนกรีตผสมเสร็จโดยตกลงราคาและสถานที่ส่งมอบตามชนิดและปริมาตรโดยให้เครดิตแก่จำเลยทั้งสาม 60 วัน ตามสัญญาซื้อขาย การส่งมอบและเรียกเก็บเงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้โจทก์ออกบิลเรียกเก็บในนามบริษัทจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ได้ส่งสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสามหลายครั้งตามรายละเอียดในฟ้อง รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 613,122.84 บาท ครบกำหนดชำระเงินแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์ทวงถามหลายครั้งจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาเกี่ยวกับการซื้อขายและคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่ระบุให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม และเมื่อเป็นการซื้อขายที่กระทำต่อเนื่องกันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมต่อสู้ได้ว่า มิได้สั่งซื้อหรือได้ชำระราคาส่วนใดไปแล้วเท่าใด
บริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับจ้างก่อสร้างโรงงาน จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีที่อยู่ที่เดียวกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทสาขาหรือบริษัทลูกของจำเลยที่ 3 ด้วย ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดำเนินกิจการร่วมกันมาโดยตลอด จึงไม่อาจอ้างความเป็นนิติบุคคลแยกจากกันมาปฏิเสธความรับผิดได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 66, ม. 67, ม. 291, ม. 295, ม. 297
ป.วิ.พ. ม. 172
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที