“มาตรา 665 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 665” คืออะไร?
“มาตรา 665” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 665 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น
แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 665” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 665 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2563
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคสอง บัญญัติว่า หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ให้ผู้รับฝากคืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท ประกอบคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ตาย ระบุว่า “เมื่อธนาคารทราบว่าผู้ฝากถึงแก่กรรมจะงดจ่ายเงินของผู้ฝากทันที ผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกของผู้ฝากมีสิทธิที่จะรับเงินฝากคืนโดยนำสมุดคู่ฝากหรือใบรับฝากและหลักฐานต่าง ๆ ที่ธนาคารต้องการมาพิสูจน์จนเป็นที่พอใจแก่ธนาคาร จึงจะจ่ายคืนเงินให้” ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจึงเป็นทายาทโดยธรรม ทั้งยังเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลจังหวัดราชบุรีให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและได้นำหลักฐานอื่น ๆ พิสูจน์ตนแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทั้งทายาทโดยธรรมและผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนหนังสือระเบียบปฏิบัติงานเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากที่เจ้าของบัญชีถึงแก่กรรมของจำเลย ที่จำเลยกำหนดให้ผู้จัดการมรดกของเจ้าของบัญชีที่ถึงแก่ความตายซึ่งมีเงินฝากในบัญชีเกิน 50,000 บาท ต้องแสดงหนังสือรับรองว่าคดีที่ศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนั้นถึงที่สุดแล้วนั้นเป็นระเบียบภายในของจำเลยที่เพิ่มเติมขึ้นมาเอง เพื่อความรอบคอบในการตรวจสอบของจำเลยเองเท่านั้น ซึ่งเป็นระเบียบที่ขัดต่อสภาพความเป็นจริง กล่าวคือ หากต้องมีหนังสือรับรองคดีที่ถึงที่สุดมาแสดงด้วยเช่นนี้กรณีทายาทโดยธรรมไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาล ย่อมไม่อาจขอคืนเงินได้เลย อันเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ฝากและทายาทของผู้ฝากโดยไม่จำเป็น อีกทั้งผู้ฝากและทายาทของผู้ฝากไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยอันจะถือว่าผู้ฝากและทายาทของผู้ฝากผูกพันตามคำขอเปิดบัญชีของผู้ตายไม่ได้ ระเบียบปฏิบัติภายในดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ฝากและทายาทของผู้ฝาก การที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินฝากของผู้ตายให้แก่โจทก์เป็นการกระทำผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยจึงต้องคืนเงิน 2,339,820.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2559 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 665
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6218/2558
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น..." ซึ่งบัญชีเงินฝากพิพาทมีชื่อจำเลยกับ ส. เป็นเจ้าของบัญชี โดยไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยกับ ส. เปิดบัญชีเงินฝากพิพาทดังกล่าวแทนผู้ร้อง และไม่ปรากฏว่าธนาคารผู้รับฝากรู้อยู่ก่อนแล้วว่า จำเลยกับ ส. เป็นตัวแทนของผู้ร้อง ธนาคารผู้รับฝากจึงต้องคืนเงินในบัญชีเงินฝากพิพาทให้แก่จำเลยกับ ส. ตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยกับ ส. เท่านั้นจึงจะมีสิทธิเบิกถอนเงินออกจากบัญชีพิพาทดังกล่าวได้ ที่ผู้ร้องนำสืบว่า จำเลยกับ ส. นำเงินของผู้ร้องเข้าฝากในบัญชีเงินฝากพิพาทในนามของจำเลยกับ ส. นั้น เมื่อเป็นกรณีการฝากเงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก ผู้รับฝากมีสิทธิเอาเงินนั้นออกใช้ก็ได้ ฉะนั้นเงินที่ฝากจึงตกเป็นของธนาคาร เมื่อจำเลยกับ ส. ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินที่ฝากจากธนาคาร ธนาคารก็ไม่จำต้องคืนเงินตราอันเดียวกับที่รับฝาก ธนาคารคงมีแต่หน้าที่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น จำเลยกับ ส. เป็นผู้ทำสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารในนามของจำเลยกับ ส. ธนาคารผู้รับฝากจึงต้องคืนเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยกับ ส. ซึ่งเป็นผู้ฝาก ผู้ร้องมิได้เป็นคู่สัญญากับธนาคารด้วย จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนเงินที่รับฝากและไม่มีสิทธิขอให้ถอนอายัดบัญชีเงินฝากพิพาทดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 665, ม. 672
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ม. 75 เตรส
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2555
การที่โจทก์ฎีกาในบางตอนปฏิเสธว่าลายพิมพ์นิ้วมือซ้ายในการถอนเงินและปิดบัญชีไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เจ้าของบัญชีเงินฝากประจำ แต่บางตอนกลับรับว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. นั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส.
สัญญาระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ซึ่งทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน คู่ความจะตกลงรูปแบบและกำหนดเงื่อนไขของสัญญา รวมทั้งจะตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น ส. กับจำเลยที่ 1 สามารถตกลงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการถอนเงินใหม่เป็นให้ ส. ถอนเงินโดยให้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายแทนการลงลายมือชื่อได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง แม้มิได้มีผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา เนื่องจากเป็นวิธีการและข้อตกลงที่ผู้ฝากจะสั่งให้ผู้รับฝากคืนทรัพย์สินที่ฝากแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคแรก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 9 วรรคสอง, ม. 665 วรรคแรก
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง