Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 659 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 659 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 659” คืออะไร? 


“มาตรา 659” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 659 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง
              ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น ทั้งนี้ ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย
              ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 659” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 659 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13006/2558
ข้อตกลงจะเป็นสัญญาประเภทใดนั้น จะต้องดูจากเนื้อหาสาระของข้อตกลงเป็นสำคัญ หาใช่ดูแต่เพียงชื่อของสัญญา เมื่อตามสัญญาเช่ามีข้อตกลงกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่จัดหาวัสดุปูพื้นคลังสินค้า จัดหาคนงานขนข้าวสารให้แก่ผู้เช่า จัดเตรียมคลังสินค้าตามสัญญาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมที่จะเก็บข้าวสารของผู้เช่าได้ทันที อีกทั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดหายามเพื่อรักษาความปลอดภัย ข้อสัญญาทั้งหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โจทก์มิได้ส่งมอบให้ผู้เช่าครอบครองและมีอิสระในการใช้คลังสินค้าเองเยี่ยงสิทธิของผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป แต่โจทก์ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแลและดำเนินการต่างๆ ภายในคลังสินค้าที่ให้เช่าอยู่โดยตลอดในแต่ละขั้นตอน เพื่อที่โจทก์จะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์ อันถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.รัษฎากร ม. 77/1 (10), ม. 77/2 (1), ม. 78/1, ม. 81 (1) (ต)
ป.พ.พ. ม. 659 วรรคสาม, ม. 663


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17872/2556
ภ. ได้นำหนังสือเดินทางและสมุดบัญชีคู่ฝากเงินของโจทก์ กับใบมอบฉันทะให้เบิกถอนเงินซึ่งมีการปลอมลายมือชื่อโจทก์มายื่นถอนเงิน ณ. พนักงานของจำเลยตรวจสอบเอกสารแล้วลงลายมือชื่อในช่องผู้รับ ผู้บันทึกรายการเป็นคนแรก แล้วนำเอกสารดังกล่าวให้ ส. ตรวจสอบอีกครั้ง แต่ ส. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบอำนาจในใบถอนเงิน จึงน่าสงสัยว่า ส. ได้ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินแล้วจริงหรือไม่ กรณีชาวต่างชาติมอบฉันทะให้ถอนเงินในบัญชีจนหมดหรือเกือบหมด พนักงานจำเลยจะโทรศัพท์สอบถามเจ้าของบัญชีก่อน ส. เบิกความว่า โทรศัพท์ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ในคำขอเปิดบัญชีแต่ติดต่อไม่ได้ ญ. เบิกความว่า โทรศัพท์ติดต่อกับโจทก์แต่ติดต่อไม่ได้ เห็นว่า พยานจำเลยมีแต่พนักงานจำเลยกล่าวอ้างลอย ๆ มีน้ำหนักน้อยรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พนักงานจำเลยผู้รับฝากเงินมิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าของจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ ปัญหาต่อไปว่าโจทก์มีส่วนผิดด้วยหรือไม่ โจทก์เก็บสมุดคู่ฝากและหนังสือเดินทางกับบัตรเอทีเอ็มไว้ในกระเป๋าเดินทางซึ่งเก็บอยู่ในห้องพัก เอกสารดังกล่าวถูกลักไปจากห้องพักโดยการงัดกระเป๋าเดินทาง เห็นว่า โจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังโดยการเก็บเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ส่วนกุญแจห้องพักสำรองนั้น ภ. ไปยืมกุญแจจากพี่ชายไปไขเข้าห้องพักของโจทก์และลักเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว หาใช่โจทก์มอบกุญแจสำรองให้ ภ. กรณียังถือไม่ได้ว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เช่นกัน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินที่ถูกถอนไปแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 659 วรรคสาม


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2555
บริษัท ส. ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท บ. ตัดและแปรรูปเหล็กม้วนเพื่อนำไปจำหน่ายแก่ลูกค้า และบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของบริษัท ส. ด้วย เมื่อบริษัท ส. ได้รับสินค้าจากผู้ขนส่งทางเรือแล้วได้ส่งมอบแก่บริษัท บ. ในสภาพเรียบร้อย และบริษัทดังกล่าวไปฝากให้จำเลยเก็บรักษาไว้โดยบริษัท บ. เป็นผู้ทำสัญญาฝากสินค้าเหล็กม้วนนี้เก็บในคลังสินค้ากับจำเลย โดยไม่ได้ความว่าบริษัทดังกล่าวทำสัญญานี้แทนบริษัท ส. แต่อย่างใด เมื่อเกิดความเสียหายแก่สินค้าเหล็กม้วนดังกล่าวก็เป็นกรณีที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้าต่อบริษัท บ. คู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้า จำเลยหาได้มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาสินค้าด้วยความระมัดระวังตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้านี้ต่อบริษัท ส. ซึ่งมิใช่คู่สัญญากับจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้นกรณีเช่นนี้จึงเป็นกรณีที่บริษัท ส. คู่สัญญาจ้างทำของต้องใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายของสินค้าตามสัญญาจ้างทำของจากบริษัท บ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทำของกับจำเลยเท่านั้น หาใช่กรณีบริษัท ส. ยังมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดให้ผิดไปจากความรับผิดโดยตรงของคู่กรณีที่มีต่อกันตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้าและสัญญาจ้างทำของได้อีกไม่ ดังนั้นบริษัท ส. จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในความเสียหายของสินค้าตามฟ้อง แม้โจทก์รับช่วงสิทธิจากบริษัท ส. ตามสัญญาประกันภัยก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยเช่นเดียวกับบริษัท ส. จำเลยรวมทั้งจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจากจำเลยย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 590, ม. 659, ม. 771
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที