“มาตรา 650 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 650” คืออะไร?
“มาตรา 650” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 650 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 650” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 650 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2553
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 และจำเลยได้รับเงินกู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และไม่เคยได้รับเงินไปจากโจทก์ จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำสัญญานายหน้าจัดส่งคนงานไปทำงานที่ไต้หวัน เท่ากับจำเลยให้การว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องซึ่งเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 จำเลยจึงไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
ที่จำเลยให้การและนำสืบพยานบุคคลว่าสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและจำเลยได้ชำระหนี้หมดแล้วนั้น ก็เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้จำนอง หาใช่การนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ไม่ และการนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ต่างประเทศก็มิใช่การนำสืบถึงการใช้เงินกู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 653 วรรคสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 650, ม. 653 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 94
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10757/2553
สัญญากู้ยืมเงินเป็นแบบฟอร์มหนังสือสัญญากู้ยืมเงินของสมาคมกลุ่มออมทรัพย์ และโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องประธานคณะกรรมการอำนวยการ (ผู้ให้กู้ยืม) แสดงให้เห็นว่าเงินที่กู้ยืมกันไม่ใช่เงินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นผู้ดูแลรักษาเงินที่สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฝากไว้เพราะโจทก์มีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการหรือประธานที่ปรึกษากลุ่มออมทรัพย์ โจทก์จึงเข้าครอบครองเงินนั้นมีหน้าที่ส่งคืนเงินจำนวนเดียวกันกับที่กลุ่มออมทรัพย์รับฝากไว้แก่ผู้ฝากให้ครบจำนวน เมื่อโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินที่รับฝากนี้แม้ไม่ใช่ของโจทก์ไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยผู้กู้ยืมชำระเงินคืนได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ใดก่อนเพราะเป็นการฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิของตนเองตามสัญญากู้ยืม ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรง แม้ ก. กู้ยืมเงินโจทก์นำมาใช้เพื่อกิจการของศูนย์สาธิตการตลาดของหมู่บ้านซึ่ง ก. เป็นประธานศูนย์มิใช่การกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม ศูนย์สาธิตการตลาดไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่อาจรับผิดทางแพ่งต่อผู้ใดตามกฎหมายได้ ดังนี้ ผู้กู้ยืมต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเป็นส่วนตัว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 65, ม. 70, ม. 650, ม. 653
ป.วิ.พ. ม. 55
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9925/2553
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโจทก์ 230,000 บาท และได้รับเงินจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นคนจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 โดยตรงไม่ได้ผ่านบริษัทจัดหางาน ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับเงินกู้ 230,000 บาท จากโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 230,000 บาท และจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินดังกล่าวไปมอบให้บริษัทจัดหางานทันที จำเลยที่ 1 จึงได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ เป็นกรณีที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์โดยตลอดว่า โจทก์มอบเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน 230,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีมูลหนี้ต่อกันตามสัญญากู้ยืมเงิน ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับเงินกู้ 230,000 บาท จากโจทก์ ดังนี้ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลหนี้ต่อกันตามสัญญากู้ยืมเงิน โดยเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการที่โจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายในการไปทำงานต่างประเทศให้แก่จำเลยทั้งสามไปก่อน และถือว่ามีการส่งมอบเงินที่โจทก์ให้จำเลยทั้งสามยืมแล้ว หาใช่ว่าจำเลยทั้งสามต้องรับเงินจากโจทก์โดยตรงไม่ เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายในการไปทำงานต่างประเทศให้แก่จำเลยทั้งสามผ่านบริษัทจัดหางานไปก่อนหรือไม่ เพียงใด ที่โจทก์ฎีกาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง
ป.พ.พ. ม. 650 วรรคท้าย