Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 610 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 610 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 610” คืออะไร? 


“มาตรา 610” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 610 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันบุคคลผู้ทำความตกลงกับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนของส่งไปนั้น เรียกว่าผู้ส่ง หรือผู้ตราส่ง
              บุคคลผู้ซึ่งเขาส่งของไปถึงนั้น เรียกว่าผู้รับตราส่ง
              บำเหน็จอันจะต้องจ่ายให้เพื่อการขนส่งของนั้น เรียกว่าค่าระวางพาหนะ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 610” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 610 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2559
เมื่อปรากฏว่าอุณหภูมิของตู้สินค้าเปลี่ยนแปลงผิดปกติ พนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องเป็นผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว และในที่สุดแม้สินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องไม่ได้รับการขนส่งไปยังปลายทาง จำเลยที่ 1 ก็ยังได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการให้บริการจากบริษัท ม. ผู้ส่งสินค้าดังกล่าว โดยหลังจากรับขนส่งและรับสินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องมาแล้วจำเลยที่ 1 จึงออกใบรับขนของทางอากาศ (Air Waybill) เพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้านั้นไว้เพื่อขนส่งต่อไปแล้ว และใบเรียกเก็บเงิน ยังเป็นการเรียกเก็บค่าระวางอีกด้วย นอกจากนี้แม้จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ขนส่ง แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 กลับอ้างเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญาขนส่งว่าเป็นสัญญาที่บริษัท ม. ผู้เอาประกันภัยตกลงในเรื่องการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเนื้อความที่ใช้กับเฟรตฟอร์เวิร์ดเดอร์เช่นจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาผู้รับขนส่งทางอากาศได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ยา ที่บริษัท ม. ผู้ส่ง เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์
ใบรับขนของทางอากาศในช่องรายการแสดงราคาสินค้า (Shipper's Declared Values) แบ่งเป็น 2 ช่อง ช่องทางซ้ายเป็นช่องแสดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีศุลกากร (for Customs) ระบุว่า "NVD" ส่วนช่องทางขวาเป็นช่องแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (for carriage) ระบุว่า "M/F" แสดงว่าเฉพาะในช่องรายการแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (Declared Value For Carraige) เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกันและมีผลต่อการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 แต่ในช่องดังกล่าวของใบรับขนของทางอากาศกลับระบุว่า "M/F" ไม่ใช่ "NVD" โดยไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 หรือฝ่ายใดว่า "M/F" กับ "NVD" มีความหมายเช่นเดียวกันหรือไม่ อย่างไร เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายอ้างเอาประโยชน์จากข้อสัญญาจำกัดความรับผิดในความเสียหายจำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด ซึ่งอยู่ด้านหลังใบรับขนของทางอากาศ จำเลยที่ 1 ต้องนำสืบให้เห็นด้วยว่าบริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดสำหรับสินค้าที่ขนส่งซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด เมื่อไม่ปรากฏลายมือชื่อของกรรมการบริษัท ม. ผู้ส่ง ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท บริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างดังกล่าว ข้อตกลงจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างย่อมไม่ผูกพันบริษัท ม. ผู้ส่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 610, ม. 625


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2551
ป.รัษฎากรมิได้บัญญัติว่า การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรหมายความว่าอย่างไร จึงต้องถือความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และมาตรา 610 จากบทบัญญัติดังกล่าว การให้บริการขนส่งจึงหมายถึงการรับขนส่งของหรือคนโดยสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อบำเหน็จคือค่าระวางพาหนะเป็นทางค้าปกติของผู้ขนส่ง ฉะนั้น หากบำเหน็จที่ได้รับมิใช่ค่าระวางพาหนะแล้ว การให้บริการนั้นก็ไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ซึ่งค่าระวางพาหนะจะมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งเป็นสำคัญ เมื่อบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าเป็นค่าตอบแทนการที่โจทก์ส่งพนักงานไปส่งเอกสารให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าสั่ง เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนจำนวนแน่นอนตามที่ตกลงในสัญญาจ้างบริการโดยมิได้คำนึงถึงระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งในแต่ละคราวเป็นสำคัญ ค่าบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าระวางพาหนะ การให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่งอันจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) แม้จะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรก็ตาม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 608, ม. 610
ป.รัษฎากร ม. 77/1 (10), ม. 77/2, ม. 81 (1) (ณ)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2843/2546
แม้โจทก์ผู้ขนส่งและจำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งจะตกลงกันให้เก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 จากผู้ซื้อที่ปลายทาง แต่ก็ไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าในกรณีที่โจทก์เรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 จากผู้ซื้อที่ปลายทางไม่ได้ โจทก์สิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลย ทั้งในใบตราส่งก็ไม่ได้ระบุจำนวนค่าระวางไว้และไม่ได้มีเงื่อนไขใด ๆ ว่า หากเรียกเก็บจากผู้ซื้อไม่ได้แล้วโจทก์หมดสิทธิเรียกเอาจากจำเลย เมื่อโจทก์กับจำเลยเป็นคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางอากาศกันโดยตรง โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะคู่สัญญาให้รับผิดชดใช้ค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนที่ยังไม่ได้รับชำระได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 610
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที