Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 600 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 600 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 600” คืออะไร? 


“มาตรา 600” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 600 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้ แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 600” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 600 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13619/2553
การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องตามสัญญาจ้างทำของอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่เฉพาะกรณีความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาและงานที่ทำปรากฏการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลัง 1 ปี นับแต่วันส่งมอบหรือที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี สำหรับสิ่งปลูกสร้างในพื้นดิน กรณีตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น กรณีดังกล่าวจึงไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/30, ม. 600, ม. 601


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2526/2552
โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ออกแบบก่อสร้าง ทำการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมยานนาวาตามสัญญาว่าจ้าง โดยมีข้อตกลงในการประกันผลงานในข้อ 5.3 ซึ่งให้สิทธิโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างในการดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เองในกรณีที่เกิดการชำรุดเสียหายแก่อาคารซึ่งเหตุชำรุดเสียหายเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง และโจทก์ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างต้องรีบทำการแก้ไข ซ่อมแซมภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดแล้ว แต่ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องให้เสร็จภายในเวลาที่โจทก์กำหนด โดยผู้รับจ้างยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้สัญญาว่าจ้างข้อ 10.2 ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา ยังให้สิทธิโจทก์ที่จะว่าจ้างผู้อื่นมาทำงานแทนผู้รับจ้างได้โดยมิต้องบอกกล่าวหรือให้ผู้รับจ้างยินยอมแต่อย่างใด และค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้รับจ้างยินยอมให้โจทก์เรียกร้องจากผู้รับจ้างทั้งหมด สัญญาข้อที่ 10.2 นี้อยู่ในส่วนของเงื่อนไขทั่วไปของสัญญาว่าจ้าง จึงไม่ใช่ใช้เฉพาะกรณีที่งานของจำเลยที่ 1 ยังไม่แล้วเสร็จเท่านั้น แต่ใช้ได้ตลอดเวลาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีนิติสัมพันธ์กันอยู่และยังเป็นข้อตกลงตามสัญญาอย่างหนึ่งที่ให้สิทธิโจทก์ในการว่าจ้างบุคคลภายนอกทำงานแทนผู้รับจ้างได้ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา สำหรับกรณีคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดพบพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับกรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา เมื่อได้ส่งมอบงานกันแล้วปรากฏว่างานที่ว่าจ้างมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายหลังจึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้น แต่กรณีคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นซึ่งผูกพันกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามสัญญา กรณีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 601 ทั้งกรณีของโจทก์ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อโจทก์พบความชำรุดบกพร่องในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมแก้ไขอาคารรวม 2 ครั้งแล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการซ่อมแซมแทนจำเลยที่ 1 ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบค่าจ้างที่โจทก์เสียไปทั้งหมดตามสัญญาข้างต้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 ซึ่งนับแต่วันที่พบความชำรุดบกพร่องถึงวันฟ้องยังไม่เงิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/30, ม. 600, ม. 601


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4308/2550
การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วงานที่ทำเกิดการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลังส่งมอบ แต่กรณีตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น อันเป็นข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตาม หาใช่เป็นเพียงข้อตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาซึ่งผู้รับจ้างต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 600 ไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้กำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/30, ม. 600, ม. 601
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที