Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-29

มาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 6 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 6” คืออะไร? 


“มาตรา 6” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 6 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 6” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 6 ” ในประเทศไทย 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2565
โจทก์เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทอันเป็นเอกสารสำคัญไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ซึ่งอยู่ภายในบ้านชั้นล่างโดยไม่ได้ล็อกกุญแจ ย่อมง่ายต่อการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มาใช้บริการร้านเสริมสวยของ บ. และ บ. หยิบฉวยโฉนดที่ดินพิพาทไปได้โดยง่าย ถือเป็นการเก็บโฉนดที่ดินพิพาทไว้ในที่ไม่ปลอดภัย อันเป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาอย่างวิญญูชนพึงกระทำ การที่ บ. ลักโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ไปทำการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลย ถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์โดยตรง เมื่อจำเลยมิได้ล่วงรู้ว่า บ. ลักโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ไปทำการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างความสุจริต ฝ่ายที่ประมาทเลินเล่อย่อมเสียเปรียบและต้องรับผลต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่อาจยกเอาความประมาทของตนมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อจำเลยได้ สัญญาขายฝากดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 6, ม. 491


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2564
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดก แต่ยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เยาว์โดยจะรอให้บรรลุนิติภาวะเสียก่อน แต่ น. มารดาของโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินจึงมาขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และ วัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจปกครองโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งไม่บรรลุนิติภาวะจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะทายาทที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่มารดาของโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (4) แต่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่ น. มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252 และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อฟ้องโจทก์เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โดยตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยมิได้เสียค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต และมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ถือว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะหักล้างบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 6, ม. 1299 วรรคสอง, ม. 1574 (4), ม. 1733 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 252


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2561
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 5 จะบัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" แต่มาตรา 6 ก็บัญญัติต่อไปว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" โจทก์ที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
ในการยื่นคำให้การ จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัทที่รับประกันวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่มาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธ อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 6
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสอง, ม. 225 วรรคหนึ่ง, ม. 249 (เดิม)
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที