Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 599 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 599” คืออะไร? 


“มาตรา 599” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 599 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 599” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 599 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2561
จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งประตู หน้าต่าง และงานอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมและกระจกในอาคารชุด ท. โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่างานที่โจทก์ทำยังมีข้อบกพร่อง และจำเลยได้ทักท้วงให้โจทก์เข้าแก้ไขงานโดยตลอด การที่โจทก์ไม่เข้าไปแก้ไขงานที่รับจ้างให้เรียบร้อย แต่เกี่ยงให้จำเลยชำระค่าจ้างเสียก่อน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฝ่ายจำเลยย่อมชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 599 แต่สินจ้างที่จำเลยอาจใช้สิทธิยึดหน่วงไว้ได้นั้น จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไว้เพียงจำนวนเพื่อเป็นประกันตามสมควรในงานจ้างที่ชำรุดบกพร่องเท่านั้น ตามนัยมาตรา 599 จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเกินกว่าความเสียหายที่เกิดจากงานจ้างที่ชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อความเสียหายของจำเลยตามฟ้องแย้งเห็นได้ว่าน้อยกว่าจำนวนค่าจ้างที่ค้างชำระมาก จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเกินกว่าความเสียหายดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 599


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5626/2557
โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2550 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รับมอบงานดังกล่าว สำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ปรากฏตามใบแจ้งหนี้ว่าเป็นรายการชำระงวดสุดท้าย ซึ่งเป็นการเรียกเก็บในเวลาภายหลังการส่งมอบงานของโจทก์ เมื่อโจทก์ส่งมอบงานไม่เรียบร้อยชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างในงวดสุดท้ายเพื่อให้โจทก์ทำการแก้ไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 599 กรณีมิใช่การยึดหน่วงค่าสินค้าและค่าแรงที่โจทก์ทำเสร็จเรียบร้อยและถึงกำหนดชำระแล้วดังที่โจทก์ฎีกา
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 599


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10864/2553
จำเลยสั่งซื้อและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งระบบสัญญาป้องกันภัยที่สำนักงานของจำเลย เมื่อสัญญาซื้อขายมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาจึงมีหน้าที่ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติการชำระหนี้ของตนในคราวเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 461 และ 486 เมื่อระบบสัญญาณป้องกันภัยที่โจทก์ติดตั้งยังมีความชำรุดบกพร่องบางส่วนอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ นอกจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แล้ว ตามมาตรา 488 ยังบัญญัติรับรองสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระด้วยเช่นเดียวกับมาตรา 599 ที่กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ราคาที่ยังไม่ได้ชำระแก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะแก้ไขความชำรุดบกพร่องนั้นให้สิ้นไป หรือหาประกันที่สมควรให้แก่จำเลยได้ตามมาตรา 488 หรือจะให้ประกันแก่จำเลยผู้ว่าจ้างตามสมควรตามมาตรา 599 เสียก่อน แม้จำเลยจะมิได้โต้แย้งจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์จำนวน 380,000 บาท แต่จำเลยยังอุทธรณ์อ้างสิทธิยึดหน่วงราคาโดยมีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย และศาลอุทธรณ์ก็พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่มีหนี้ที่โจทก์อาจขอหักกลบจากจำเลยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 488, ม. 599
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที