Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 597 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 597 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 597” คืออะไร? 


“มาตรา 597” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 597 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า“

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 597” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 597 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3012/2552
นอกจากงานก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานเพิ่มเติมไปจากสัญญา ซึ่งโจทก์ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งงานงวดที่ 14 และที่ 15 โจทก์ส่งมอบพร้อมกันภายหลังล่วงพ้นระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่างวดทั้งสองงวดให้โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าในขณะรับมอบงานจำเลยที่ 1 ได้อิดเอื้อนหรือสงวดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไว้ การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกโจทก์แล้วว่าจะมีคนมาใช้ประโยชน์ในอาคารที่ก่อสร้างก็เป็นเพียงคำปรารภหาใช่เป็นการสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไม่
การที่จำเลยที่ 1 รับมอบงานงวดที่ 14 และที่ 15 ทั้งที่ระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้วและให้โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 16 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ ทั้งมีงานที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำนอกเหนือสัญญาด้วย จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญานี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาให้ระงับกันไปไม่ถือเป็นการผิดสัญญา จึงทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับที่โจทก์ส่งมอบงานพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดตามสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม และมาตรา 597
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 381 วรรคสาม, ม. 597


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2467 - 2468/2552
โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารขนาด 16 คูหา แบ่งงวดงานก่อสร้างทั้งหมด 11 งวด กำหนดลงมือก่อสร้างวันที่ 1 ตุลาคม 2537 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งงานตามกำหนดงวดในสัญญาได้ โจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับโดยเมื่อพ้นกำหนดตามสัญญาคือวันที่ 30 กันยายน 2538 โจทก์ที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เร่งรัดทำการก่อสร้างตามงวดงาน เอกสารทุกฉบับที่โจทก์ที่ 1 ส่งถึงจำเลยที่ 1 เป็นเวลาหลังจากครบกำหนดตามสัญญาก่อสร้างแล้ว ฝ่ายจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญแม้จะส่งงานเกินกำหนดเวลาแต่ละงวดโจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับผลงาน การที่โจทก์ที่ 1 ยอมรับผลงานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงวดงานจึงเป็นการขยายระยะเวลาสัญญาว่าจ้างไปโดยไม่มีกำหนด มิได้ถือเอาวันที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินค่างวดงานในงวดที่ 9 แต่โจทก์ที่ 1 ปฏิเสธโดยขอให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2539 แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานทั้งหมดใหม่คือวันที่ 15 กันยายน 2539 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 16 กันยายน 2539 ส่งถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2539 มิใช่วันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนั้น จำเลยจที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสิบหก
เมื่อฝ่ายโจทก์มิได้ถือเอากำหนดส่งมอบงานเดิมในวันที่ 30 กันยายน 2538 เป็นสาระสำคัญ และได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานใหม่เป็นวันที่ 15 กันยายน 2539 โจทก์ที่ 1 จึงอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อนวันที่ 15 กันยายน 2538 หาได้ไม่ โจทก์ที่ 1 ไม่อาจเรียกร้องค่าปรับรายวันตามสัญญาในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2539 จากจำเลยที่ 1 ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 387, ม. 597, ม. 605


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7809/2540
ฎีกาโจทก์ที่ว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินเพียง 46,000 บาท น้อยเกินไป ควรจะเป็นเงินจำนวนไม่น้อยกว่า 446,000 บาท ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในข้อนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยทำงานล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้ แต่โจทก์ยอมรับเอาผลงานและชำระเงินให้จำเลยโดยดี โดยงานที่จำเลยทำส่วนใหญ่สมบูรณ์ มีความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ทำงานที่จ้างให้โจทก์เสร็จแล้ว ตามสัญญาจ้างเหมาฉบับพิพาทมีข้อความว่า ผู้รับจ้างต้องทำงานรายนี้ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ปรากฏในสัญญานี้เป็นต้นไป ถ้าหากไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับเป็นรายวันจนกว่าผู้รับจ้างจะทำงานรายนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นว่าผู้รับจ้างไม่มีทางที่จะทำงานจ้างรายนี้ให้แล้วเสร็จได้ เมื่อครบกำหนด 60 วันแล้ว ผู้รับจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างมีอำนาจที่จะเลิกสัญญานี้ได้ทันที และหากเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้น อันเนื่องจากผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแล้วใช้สิทธิเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา แต่กลับยอมต่ออายุสัญญาให้จำเลยโดยยอมรับเอาผลงานของจำเลยและชำระค่าจ้างให้จำเลยในวันซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ครบกำหนดอายุสัญญาที่โจทก์ต่อให้แล้วแสดงว่า โจทก์ไม่ได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 381, ม. 388, ม. 587, ม. 593, ม. 596, ม. 597
ป.วิ.พ. ม. 249
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที