Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 594 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 594 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 594” คืออะไร? 


“มาตรา 594” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 594 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 594” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 594 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2564
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบัญญัติหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี” และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี...” ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และ พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. นี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับไว้นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 ต่อมาจำเลยได้ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินคืน และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 จำเลยฟ้องแย้งขอเรียกคืนเงินสำรองและค่าเสียหาย จึงมีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ กรณีต้องนำบทบัญญัติมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ โดยจำเลยมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสามต่อปีตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีเท่ากับร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่ พ.ร.ก. นี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 222, ม. 391, ม. 594
ป.วิ.พ. ม. 142 (5)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6314/2550
เมื่อโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง และจำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไข โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยาย สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานงวดที่สองให้จำเลยเสร็จแล้วจึงไม่อาจให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยต้องใช้เงินค่าก่อสร้างในงวดที่สองให้แก่โจทก์แทน จำเลยไม่มีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างเสียทั้งหมด เมื่องานของโจทก์มีสิ่งบกพร่องและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่องให้เป็นไปตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยชอบที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการแก้ไขสิ่งบกพร่องดังกล่าวได้ โดยโจทก์จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 594 และจำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเท่าที่เสียไปจากค่าจ้างของงานงวดที่สองเท่านั้น
เหตุที่โจทก์ทำงานบกพร่องเนื่องจากจำเลยขอเปลี่ยนแบบ ขยายห้องนอนให้กว้างขึ้น ใช้วัสดุผิดจากแบบแปลน ทำให้โครงเหล็กรับน้ำหนักมากกว่าแบบทำให้โค้งงอ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ว่าจ้างบุคคลใดให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงกำหนดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขข้อบกพร่องตามความเหมาะสมได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 391, ม. 587, ม. 594


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2538
โจทก์กล่าวในคำฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยอันเป็นการผิดสัญญาจ้างทำของ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหลายรายการ แต่โจทก์คิดเพียง400,000 บาท โดยแนบภาพถ่ายทาวน์เฮาส์ เครื่องโม่ปูนวัสดุก่อสร้างที่เหลือ บ้านพักคนงาน รวมทั้งสิ่งก่อสร้างตามโครงการก่อสร้างของจำเลยที่ถนนเทพารักษ์มาท้ายฟ้องด้วยแม้มิได้บรรยายว่าโจทก์เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใด ทำงานเสร็จไปถึงงวดที่เท่าใดวัสดุก่อสร้างที่เหลืออยู่ จำนวนและราคาเท่าใดและการว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างที่เทพารักษ์ มีหลักฐานอย่างใด ก็ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา ไม่จำต้องกล่าวในฟ้องทั้งเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ จำเลยต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้วคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม กรณีเพิ่งเริ่มงานตามสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทำการก่อสร้าง เหตุบอกเลิกสัญญา ก็อ้างเหตุโจทก์ทิ้งงานเท่านั้น ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ และโจทก์เองมิได้ทอดทิ้งงาน ส่วนเรื่องโจทก์ก่อสร้างผิดแบบผิดหลักวิชาการก็รับฟังไม่ได้ ดังนี้เมื่อ สัญญาจ้างยังไม่ถึงกำหนด และจำเลยผู้ว่าจ้างเห็นว่าหากให้ โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไปจะเกิดความเสียหายเพราะงานล่าช้างานจำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387แต่จำเลยก็มิได้ทำเช่นนั้น จึงบอกเลิกสัญญาโดยเหตุดังกล่าวไม่ได้ การที่โจทก์ขอทำการก่อสร้างต่อไปและจำเลยไม่ยอมโดยว่าจ้างผู้อื่นก่อสร้างต่อไปและให้เลิกสัญญา จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้ แต่เป็นเรื่องจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง กรณีจ้างทำของเมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาเองโดยโจทก์ผู้รับจ้างไม่ได้ทำผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 605 ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยต้องรื้อถอนซ่อมแซมและเสียค่าก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การและฟ้องแย้ง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งแล้ว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องโดยมิได้พิพากษายกฟ้องแย้งด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสีย ให้ถูกต้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 205, ม. 207, ม. 387, ม. 587, ม. 594, ม. 605, ม. 606
ป.วิ.พ. ม. 142, ม. 172, ม. 145, ม. 242, ม. 247
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที