Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 577 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 577 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 577” คืออะไร? 


“มาตรา 577” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 577 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย
              ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็ได้เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย
              ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ “

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "นายจ้าง" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 577” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 577 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2563
การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 (เดิม) กรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลจะต้องเป็นการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด แต่การที่จำเลยขายกิจการในแผนกคอนซูมเมอร์ เฮลแคร์ และโอนลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ไปทำงานกับบริษัทที่ซื้อกิจการนั้นมิใช่การเปลี่ยนแปลงนิติบุคคลหรือมีผลเป็นการโอนหรือควบรวมนิติบุคคลกับบริษัทดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง แต่เป็นการโอนสิทธิการเป็นนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ซึ่งการโอนสิทธิการเป็นนายจ้างจะกระทำได้ต่อเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ตอบรับข้อเสนอในการโอนสิทธิการเป็นนายจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ที่มีข้อความระบุว่า หากโจทก์ไม่ตอบรับข้อเสนอการโอนสิทธิการเป็นนายจ้างภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 จำเลยจะสันนิษฐานว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะรับข้อเสนอ และข้อเสนอถือว่าถูกเพิกถอนไป โดยจำเลยจะไม่มีตำแหน่งให้โจทก์อีกต่อไป นับแต่วันที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงหากโจทก์ไม่ตอบรับข้อเสนอของจำเลยภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 การจ้างงานของโจทก์จะสิ้นสุดลงในวันที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์นั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า แต่เมื่อไม่ได้กำหนดวันที่จะเลิกจ้างไว้ให้ชัดเจนว่าจะเลิกจ้างโจทก์ในวันใด การบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าจึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 582
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 577, ม. 582
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 13 (เดิม)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10045/2556
หลังจากโจทก์ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จ. ลูกจ้างของโจทก์ยังคงปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานขับรถและได้รับค่าจ้างอัตราเดิมต่อเนื่องตลอดมาโดยเป็นลูกจ้างของ อ. ซึ่งเคยเป็นกรรมการของโจทก์ กรณีเป็นการโอนสิทธิการเป็นนายจ้างจากโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลมาเป็น อ. ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่โจทก์เลิกจ้าง จ.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 577 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 13, ม. 118 วรรคสอง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7945/2554
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 ใช้สำหรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง ซึ่งมีผลให้นายจ้างใหม่ต้องรับสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างที่มีอยู่กับนายจ้างเดิมมาด้วยทุกประการ แต่หากเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่นั้นกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ซึ่งนายจ้างเดิมและนายจ้างใหม่จะทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย และเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจในการโอนสิทธิดังกล่าวแล้วลูกจ้างนั้นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่ด้วยเช่นกัน หากนายจ้างโอนลูกจ้างไปยังนายจ้างใหม่ โดยลูกจ้างไม่ยินยอมก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสาม มีผลใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในแต่ละสถานประกอบกิจการเท่านั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การโอนย้ายโจทก์จากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นเวลาถึง 2 ปี 9 เดือน ถือว่าโจทก์ยินยอมพร้อมใจด้วยโดยปริยาย โจทก์ต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่คือจำเลยที่ 2 ด้วย แต่จำเลยที่ 2 กับโจทก์ก็มิได้มีข้อตกลงเรื่องกำหนดเกษียณอายุไว้เป็นประการอื่น โจทก์จึงตกอยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ โดยไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 65 ปี บริบูรณ์
จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดเกษียณอายุ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติกันทั่วไป มิใช่การเลิกจ้างโดยกลั่นแกล้ง แต่เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 577 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 13
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 10 วรรคสาม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที